การเปิดรับหนังฮอลลีวูดในจีน
วีรกรรมปราบผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถานในภาคแรก จนถึงการประมือกับนักฟิสิกส์วายร้ายชาวรัสเซียในภาค 2 คือความหลากหลายทางเชื้อชาติในหนังแอ็คชั่นสุดดังอย่าง Iron Man ซึ่งภาค 3 ที่จะฉายปีหน้า จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนมากกว่าทุกภาค เมื่อ Walt Disney ประกาศร่วมมือกับ DMG Entertainment บริษัทสร้างภาพยนตร์ของจีนในการสร้างภาคต่อ ที่จะมีการใช้ทุนสร้างและทีมงานร่วมกัน จนถึงการเพิ่มเนื้อหา และการถ่ายทำในประเทศจีนอีกด้วย
ขณะที่ยอดผู้ชมภาพยนตร์ในสหรัฐฯลดลงตลอด 2 ปี แต่ตลาดภาพยนตร์ในจีนกลับเติบโตไม่หยุดยั้ง ปีที่แล้วจีนทำรายได้จากการฉายภาพยนตร์ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปี 2010 เกือบ 1 ใน 3 ส่วนหนึ่งมาจากกระแสความนิยมหนัง 3 มิติของแฟนหนังชาวจีน ซึ่งทำรายได้เกือบครึ่งจากการฉายทั้งหมด ทำให้รัฐบาลจีนเพิ่มโควต้าการฉายหนังต่างประเทศในชาติจากปีละ 20 เรื่องเป็น 34 เรื่อง หากภาพยนตร์นั้นสร้างในระบบ 3 มิติหรือหรือพร้อมฉายทางจอไอแม็กซ์ ทั้งยังเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากการฉายหนังในจีนให้ค่ายหนังต่างชาติจากร้อยละ 13 - 17 เป็นร้อยละ 25
มาตรการใหม่ของรัฐบาลทำให้มีบริษัทสร้างหนังในสหรัฐฯสนใจมาลงทุนในตลาดภาพยนตร์ในชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่ายการ์ตูนดังอย่าง DreamWorks ประกาศร่วมทุนกับ Shanghai Media Group บริษัทภาพยนตร์อันดับ 2 ของจีนเพื่อร่วมกันพัฒนาผลงานภาพยนตร์ และแอนิเมชั่น หรือ Legendary Entertainment บริษัทโปรดักชั่นดังได้เซ็นสัญญากับ Huayi Brothers บริษัทผู้สร้างของจีนในการผลิตผลงานปีละ 2 เรื่อง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนเพื่อออกฉายในระดับสากล
ความสำเร็จของ Kungfu Panda แอนิเมชั่นที่นำวัฒนธรรมจีนมาปรับใช้จนโด่งดัง กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้จีนหันมามองการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และแอนิเมชั่น และร่วมทุนกับต่างชาติเพื่อพัฒนาความรู้ด้านนี้ให้ก้าวหน้าเทียบเท่าฮอลลีวูด เห็นได้จากความร่วมมือกับค่าย Walt Disney ที่กำลังเดินหน้ากับแผนการสร้างสวนสนุกมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ในเซียงไฮ้ และโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษหลายแห่งในจีน โดยแลกกับการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านแอนิเมชั่นของค่ายมาอบรมนักสร้างการ์ตูนของจีนให้พัฒนาไปสู่ระดับสากลในอนาคต