วสท.เตือนเฝ้าระวังแผ่นดินไหว
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวแผ่นดินไหวในประเทศไทย และผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร ซึ่งรองศาสตราจารย์เป็นหนึ่ง วานิชชัย ประธานอนุกรรมการสาขาผลกระทบต่อแผ่นดินไหว และแรงลม วสท. บอกว่า เหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.6 ริกเตอร์ที่เกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา เป็นการถ่ายเทพลังงานที่ลดลงจากเหตุแผ่นดินไหวในปี 2547 ขนาด 9.1 ริกเตอร์ โดยเกิดจากแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย มุดตัวลงใต้เปลือกโลกยูเรเซี่ยน ซึ่งเป็นที่ตั้งของไทย แต่จุดที่น่าเป็นห่วงคือ รอยต่อแผ่นเปลือกโลกบริเวณตอนเหนือของหมู่เกาะอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย จนถึงประเทศพม่า ที่รอยเลื่อยยังมีการสะสมพลังงาน และยังไม่เคยเกิดการไถลตัว ซึ่งในอนาคตอาจเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8-9 ริกเตอร์ได้ ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้ 6 จังหวัดอันดามันของไทยได้รับผลกระทบโดยตรงภายใน 2 ชั่วโมง ขณะที่เหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดภูเก็ต4.3 ริกเตอร์ รองศาสตราจารย์เป็นหนึ่ง บอกว่าไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะเป็นเหตุที่เกิดตามปกติ แต่ต้องทำให้ความสำคัญไปที่รอยเลื่อนในภาคเหนือและภาคตะวันตก เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ขึ้นไปได้
ส่วนลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวที่กระทบต่อโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร รองศาสตราจารย์อมร พิมานมาศ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน วสท. บอกว่า กทม.ยังคงเสี่ยงได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว เพราะมี 3 ปัจจัยสำคัญคือ อยู่ใกล้รอยเลื่อนมีพลัง คือรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ และรอยเลื่อนสะแกง ในประเทศพม่า ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯไม่เกิน 300 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน กทม.ตั้งอยู่บนชั้นดินที่อ่อน และโครงสร้างอาคารยังไม่สามารถรองรับแผ่นดินไหว โดยจุดเสี่ยงจะเกิดขึ้นกับตึกแถวสูง 4-5 ชั้น อาคารที่ชั้นล่างเปิดโล่ง อาคารที่ไร้คาน เช่น อาคารจอดรถ อาคารสำนักงาน รวมถึงบ้านจัดสรรที่มีโครงสร้างสำเร็จรูป หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ขึ้นไป