ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กทม.เร่งซ่อมสะพานข้ามแยกไทย-เบลเยี่ยมพร้อมเตรียมซ่อมอีก 42 แห่งทั่วกรุง

สังคม
20 เม.ย. 55
07:51
16
Logo Thai PBS
กทม.เร่งซ่อมสะพานข้ามแยกไทย-เบลเยี่ยมพร้อมเตรียมซ่อมอีก 42 แห่งทั่วกรุง

กทม.เตรียมปิดการจราจรบริเวณถ.พระราม 4 ขาเข้า เพื่อเปิดผิวถนนตรวจสอบและวิเคราะห์หาสาเหตุถนนทรุด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะเดียวกัน ยังพบโพรงใต้ดินใกล้กับจุดที่เกิดการทรุดตัวเพิ่มเติม พร้อมสั่งให้สำนักการโยธา วางแผนการซ่อมบำรุงรักษาสะพานข้ามแยก จำนวน 42 แห่งใช้งบประมาณ 168 ล้านบาท

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบเร่งรัดการซ่อมแซมแผงคอนกรีตกันตกของสะพานข้ามทางแยกไทยเบลเยี่ยมที่ชำรุดเสียหายบางส่วน โดยสะพานดังกล่าวใช้งานมากว่า 15 ปีแล้ว หลังจากที่มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อปี 2540 กรุงเทพมหานคร จะใช้งบประมาณจำนวน 43 ล้านบาท ดำเนินการซ่อมแซม และจะมีการตรวจสอบสภาพอย่างละเอียดอีกครั้งว่า โครงสร้างยังมีความแข็งแรงอยู่หรือไม่ นอกจากสะพานดังกล่าวแล้ว ยังมีสะพานข้ามแยกอีกหลายจุดทั้งที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่นที่เกิดการชำรุดหลุดร่อนของคอนกรีต ทั้งนี้ได้ประสานความร่วมมือให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้าไปดำเนินการซ่อมแซม โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร สำนักการโยธา มีแผนการซ่อมบำรุงรักษาสะพานข้ามแยก จำนวน 42 สะพาน โดยใช้งบประมาณ 168 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม  

สำหรับการดำเนินการซ่อมแซมถนนทรุดตัวที่บริเวณขาเข้ามุ่งหน้าแยกวิทยุ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ในวันพรุ่งนี้ ( 21 เม.ย.55  เวลา 22.00 น. - 04.00 น. กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันตรวจสอบ และหาสาเหตุร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหา โดยจะเปิดผิวถนนเพื่อหาสาเหตุการทรุดตัวอย่างละเอียด ด้วยการขุดหลุมที่ความลึก 3 เมตร เพื่อให้ถึงระดับความลึกของท่อระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบด้วยเครื่องตรวจสภาพใต้ดิน ยังพบโพรงใต้ดินเพิ่มเติมอีกจุดที่บริเวณถนนพระราม 4 ขาออกมีลักษณะเป็นหลุมลึกเกือบ 1 เมตร กว้าง 5 เมตร ระยะทางประมาณ 20 เมตร จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการซ่อมแซม หลังจากซ่อมแซมที่บริเวณถนนพระราม 1 ขาเข้าเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์

ส่วนเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนั้น ยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบกับการทรุดตัวของถนนแต่อย่างใด เนื่องจาก ถนนทรุดตัวเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่อาจจะเป็นผลต่อเนื่องจากน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง