นิทรรศการภาพถ่ายสะท้อนวิถีชีวิตชาวจีนโพ้นทะเล
งานประดิษฐ์กระดาษเป็นโคมไฟ ม้า ข้าทาสบริวาร และคฤหาสน์ สำหรับเผาอุทิศให้ผู้วายชนม์ได้ใช้ในชีวิตหลังความตาย สืบต่อความเชื่อแบบจีนในร้านจำหน่ายเครื่องไหว้ 1 ใน 3 แห่งที่ยังหลงเหลือในเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย สะท้อนวัฒนธรรมจีนที่เริ่มเลือนหาย ไปจากดินแดนที่เคยตั้งรกรากมานานกว่า 500 ปี ภาพถ่ายส่วนหนึ่งในนิทรรศการ Convergence ฝีมือช่างภาพชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน “เหว่ย เหลง เท” ถ่ายทอดอัตลักษณ์ชาวจีนโพ้นทะเลในมาเลเซียและสิงคโปร์
เหว่ย เหลง เท กล่าวว่า แม้เป็นชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน หากเธอกลับรู้สึกเหมือนเป็นคนนอกเมื่อต้องไปศึกษาต่อที่ฮ่องกง ด้วยเหตุผลจากความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิดซึ่งแวดล้อมด้วยอิทธิพลตะวันตก เพื่อหาคำตอบว่าปัจจุบันคนเชื้อสายจีนในบ้านเกิดดำเนินชีวิตอย่างไร เธอไม่เพียงลงพื้นที่บันทึกภาพเท่านั้น แต่ยังสัมภาษณ์ ทำความรู้จักกับคนเชื้อสายจีนในสิงคโปร์ และมาเลเซียถึง 2 ปีเต็ม กลายเป็นภาพถ่าย 29 ภาพ เล่าเรื่องการดำเนินชีวิตที่แตกต่างของผู้คน ที่ครั้งหนึ่งเคยมีรากวัฒนธรรมเดียวกัน
ภาพไม้กางเขนสัญลักษณ์ของคริสตศาสนา ตั้งรวมกับข้าวของเครื่องใช้ของชาวปีนังเชื้อสายจีน การรักษาอัตลักษณ์อย่างเหนียวแน่น ในภาพหญิงชราสวมชุดเสื้อผ้าแบบจีนจากเมืองอิโปะ ประเทศมาเลเซีย และชายหนุ่มสิงคโปร์กับวิถีคนเมืองสมัยใหม่ สะท้อนกาลเวลาที่ทำหน้าที่ทั้งผสมผสาน และกลืนหายวัฒนธรรมของบรรพบุรุษซึ่งเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน โดยศิลปินหวังเพียงให้ภาพถ่ายได้ทำหน้าที่สะท้อนมุมมองของเธอ ในฐานะสมาชิกสายเลือดจีนโพ้นทะเล ที่อยู่ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง
เทคนิก Still life หรือการถ่ายภาพหุ่นนิ่ง เน้นการจัดวางองค์ประกอบ และแสงเงาที่งดงาม ถูกศิลปินนำเสนอพร้อมเสียงสัมภาษณ์ของชาวสิงคโปร์ และมาเลเซียเชื้อสายจีนที่บันทึกไว้ระหว่างลงพื้นที่ ให้ผู้ชมได้สัมผัสกับเรื่องราวการดำเนินชีวิต ของผู้สืบวัฒนธรรมจีนในดินแดนโพ้นทะเล ทั้งจากภาพและเสียง นิทรรศการ Connvergence จัดแสดงถึงวันที่ 25 พฤษภาคมที่หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย