ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นิด้า แนะไทยพึ่งพิงการค้าลงทุนจีน จับตาปัญหาเงินเฟ้อกดดันเศรษฐกิจไตรมาส 2

เศรษฐกิจ
23 เม.ย. 55
18:25
32
Logo Thai PBS
นิด้า แนะไทยพึ่งพิงการค้าลงทุนจีน จับตาปัญหาเงินเฟ้อกดดันเศรษฐกิจไตรมาส 2

รศ.มนตรี โสคติยานุรักษ์ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (MPA) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจของประเทศจีนในไตรมาสแรกที่ผ่านมาจะมีอัตราการเติบโตลดลงเหลือ 8.1% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีแต่ยังเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งถือว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนมีความแข็งแกร่งจากการค้า การลงทุน และการบริโภคในประเทศ โดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2ของโลก ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยจึงต้องเพิ่มบทบาทการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศจีนให้มากขึ้น

ที่ผ่านมา การเดินทางเยือนประเทศจีนของนายกรัฐมนตรีของไทย ถือเป็นการสานสัมพันธ์การค้าการลงทุนที่สำคัญเพราะทุกวันนี้ไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออก เพื่อประคับประคองการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตเพิ่มขึ้นโดยมองว่า หากไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้นหรือสามารถชักชวนดึงนักลงทุนชาวจีนให้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปีนี้ ที่คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ถึง 5-6%

“เรายังจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกซึ่งจีนเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพมากที่สุดในยามที่เศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปยังมีปัญหา ซึ่งไทยเองก็มีสานสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศจีนจึงควรใช้โอกาสนี้ในการเปิดประตูการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้เติบโตได้ตามเป้าที่วางไว้” รศ.ดร.มนตรี กล่าว

ผู้อำนวยการหลักสูต รMPA คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวว่า ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปีนี้ เชื่อว่า จะมีการอัตราการเติบโตที่ดีขึ้นหลังจากภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาได้กลับมาเริ่มเดินเครื่องผลิตเกือบครบ 100% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาสำหรับเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส2 ก็คือ ภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่รัฐบาลดำเนินนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ตั้งแต่ 1 เมษายน ที่ผ่านมาส่งผลต่อเงินเฟ้อจากต้นทุนสินค้าและเงินเฟ้อจากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลภาวะเงินเฟ้อต้องเกาะติดสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดโดยต้องควบคุมให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมต่อการค้าการลงทุนเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้อย่างเข้มแข็งต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง