ผลิตไฟฟ้าเกินใช้ กระทบค่าไฟในกระเป๋า ประเด็นใหญ่ประชาพิจารณ์ PDP 2015
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่กำลังจะเปิดรับฟังความคิดเห็นมีการคิดคำนวณมาจากฐานข้อมูลหรือฐานเพื่อการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตปัจจัยหลักๆ คือ
1.การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เฉลี่ยอยู่ที่ 3.94 ต่อปี ตามการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2.มีการอนุรักษ์พลังงานหรือประหยัดพลังงานได้จนถึงปี 2579 เท่ากับไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 10,000 เมกกะวัตต์
3.พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดจากสถิติของประเทศไทยที่เคยมีมา เช่น ช่วงที่อากาศร้อนจัด ประชาชนใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่าไหร่ เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 37,612 เมกกะวัตต์ (สิ้นปี 2557) แผนนี้ระบุว่า จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่และปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าออกไป สรุปก็คือในอนาคตอีก 21 ปีคือในปี พ.ศ. 2579 เราจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 70,410 เมกกะวัตต์ ซึ่งตามแผนก็จะมีทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
แม้ว่า PDP 2015 จะมีภาพการผลิตพลังงานที่ดูดีขึ้นมากกว่าแผน PDP ฉบับก่อนๆ เพราะมีสัดส่วนการประหยัดพลังงาน (ซึ่งต้นทุนการได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้าต่ำกว่าการสร้างโรงไฟฟ้า) และไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ซึ่งลดมลพิษและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ) มากกว่าแผน PDP ในอดีต แต่แผนนี้ก็ยังมีอีกหลายข้อที่จะต้องซักฟอก เพื่อให้มีการปรับปรุงให้เป็นธรรมกับการจ่ายเงินในกระเป๋าของประชาชนมากที่สุด
เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ซึ่งเกาะติดแผน PDP มาตลอดให้ความเห็นว่า อย่างน้อยมี 3 ประเด็นที่จะต้องขอให้มีการชี้แจง คือ
1.โรงไฟฟ้าที่ระบุว่าผูกพันไว้แล้ว คือจะต้องสร้าง ต้องร่วมกันพิจารณาว่าเลื่อนไม่ได้จริงหรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร
"หากเป็นเพราะข้อตกลงกับเอกชน รัฐก็ควรเจรจาได้ หากเหตุผลคือเพราะ ครม.อนุมัติโครงการแล้ว ก็ยังอาจไม่จำเป็นต้องดำเนินโครงการทันทีและหากอ้างถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่จะไม่เสี่ยงกับไฟตก ไฟดับ ก็ควรมีข้อพิสูจน์ในเชิงหลักฐาน หรือหากอ้างว่าเป็นเพราะรัฐต้องเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเองไม่น้อยกว่า 50% เพื่อความมั่นคง ก็ไม่จำเป็นเพราะมีวีการบริหารให้มั่นคงได้และในประเทศต่างๆก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเป็นเจ้าของเอง" นายเดชรัต กล่าว
ประเด็นนี้มีความสำคัญเพราะอาจเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นและทำให้ประชาชนต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อมูลของร่างแผน PDP 2015 นี้ จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองตั้งแต่ปี 2559 อยู่ที่ 35.2% และจนถึงปี 2567 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองถึง 39.3% ขณะที่มาตรฐานการสำรองกำลังการผลิตอยู่ที่ 15% เท่านั้น แม้ว่าจะปรับกำลังการผลิตสำรองลงมาเหลือ 15.2 % ได้ในปี 2579 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดของแผน ดังนั้นโรงไฟฟ้าที่ระบุว่าผูกพันไว้แล้วที่จะสร้างในปี 2558-2568 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 6 โรง โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 13 โรง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับอีก 1 โรง ยังจะมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างหรือไม่
2.ต้องให้มีการชี้แจงต้นทุนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหินว่าต้นทุนดังกล่าวคิดมาจากอะไรบ้าง รวมการกำจัดมลพิษหลังการผลิตไฟฟ้าไว้แล้วมากน้อยแค่ไหน เพราะต้นทุนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับราคาค่าไฟฟ้าโดยตรง
3.ต้องการเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า ที่ไม่มีระบุในแผน PDP 2015 ซึ่งอย่างน้อยควรจะระบุภาคซึ่งจะเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆที่จะสร้างขึ้น เนื่องจากการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งมีปัยจัยเชิงพื้นที่และสังคมที่แตกต่างกัน
ขณะที่ศุภกิจ นันทะวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสุขภาวะเห็นด้วยว่า การสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินกำลังสำรองที่จะเป็นจะสร้างภาระการลงทุนสำหรับไฟฟ้าส่วนเกินนี้ถึงราว 250,000 ล้านบาทและยังเห็นว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นจัดขึ้นเฉพาะที่กรุงเทพฯ โดยใช้ช่วงเวลาเพียงครึ่งวัน ทั้งที่แผน PDP เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ ทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าและการจ่ายค่าไฟฟ้า โดยยังไม่เห็นถึงกำหนดที่จะจัดรับฟังความคิดเห็นในภูมิภาคต่างๆ
ศุภกิจชี้ให้เห็นอีกประเด็นที่สำคัญของแผนนี้ คือ การดำเนินการอนุรักษ์พลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ซึ่งจะทำให้มีพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น แต่มีต้นทุนต่ำกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าทุกประเภทและจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนได้ แต่แผนนี้กลับไม่เร่งดำเนินการในช่วงปีแรกๆและจะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นก่อน แล้วค่อยไปดำเนินการอนุรักษ์พลังงานมากๆในช่วงปีหลังๆ