“Expat” กับโอกาสของอสังหาริมทรัพย์ไทย
ในรอบเกือบทศวรรษที่ผ่านมามีตัวเลขการเติบโตที่น่าสนใจของจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน และพำนักอยู่ในประเทศไทย (Expatriate) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "Expat" เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องราวร้อยละ 14 ต่อปี อัตราการเจริญเติบโตดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเติบโตที่สูงและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานได้ระบุว่า ณ สิ้นปี 2010 มีจำนวน Expat 1 ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานได้ในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายกว่า 1.64 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากปี 2002 (รูปที่ 1)
จึงไม่น่าแปลกใจว่าจำนวน Expat มีการเติบโตอย่างมากพร้อมๆ กับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาในไทย โดยเฉพาะ Expat ชาวญี่ปุ่นในไทยมีจำนวนมากกว่า 24,000 ราย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 22 ของจำนวน Expat ทั้งหมดในไทย เนื่องจากญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตและทำธุรกิจในไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนของการกระจายตัวของ Expat ในประเทศไทยพบว่ากว่าร้อยละ 47 จะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และอีกกว่าร้อยละ 16 กระจายตัวตามแหล่งงานในเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ อาทิ ชลบุรี ระยอง สงขลา และภูเก็ต โดยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ Expat ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ ๆ ในรอบ 10 ปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 16 ต่อปี
สำหรับ Expat ที่มีสัญญาการจ้างงานในกรุงเทพฯ มักนิยมการอยู่อาศัยในรูปแบบของอพาร์ทเมนท์ให้เช่าย่านใจกลางเมืองใกล้แหล่งธุรกิจและชุมชนซึ่งสามารถเดินทางได้สะดวก โดยข้อมูลจากการสำรวจของ CB Richard Ellis (Thailand) หรือ CBRE บริษัทบริหารตัวแทนอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ได้เปิดเผยว่าอัตราการเข้าพัก (Occupancy rate) ของอพาร์ทเม้นท์ใจกลางเมืองอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง กว่าร้อยละ 90 ณ สิ้นปี 2011 ในขณะที่การเติบโตของอุปทานเป็นไปอย่างค่อนข้างจำกัดเพียงร้อยละ 3 ต่อปี ส่งผลดีต่อตลาดคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ที่เจ้าของหรือโครงการปล่อยบางส่วนให้เช่า/ขายแก่ชาวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นตลาดทดแทน
จากผลสำรวจที่จัดทำขึ้นล่าสุด 2010/2011 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มอาชีพข้างต้นมีเงินเดือนสูงได้ถึงราว 300,000 บาท นอกจากนี้กลุ่ม Expat ยังได้รับสวัสดิการจากนายจ้าง ด้านสาธารณสุข การศึกษา และ ด้านอื่นๆ สำหรับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นการเอื้อต่อธุรกิจค้าปลีกและบริการในไทย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนักที่จะเห็นนักการตลาดเริ่มจับจ้องและดึงกลยุทธ์การตลาดมาใช้กับบรรดา "นิวคลาส" อย่าง Expat