จุลินทรีย์ “พิชิตกลิ่นเหม็น” ดักอากาศอุตสาหกรรม
งานประชุมนานาชาติ International Conference on Sustainable Environmental Technology หรือ ICSET 2012 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-27 เมษายน 2555 โดยในการประชุมดังกล่าวมีการนำเสนอนวัตกรรมของคนไทยเกี่ยวกับการจัดอากาศเสีย คือนวัตกรรมเรื่อง “การกำจัดแอมโมเนียโดยใช้ระบบ Bio Filter” ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในการจัดการกับอากาศเสียจากภาคอุตสาหกรรม
ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้เป็นการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่าง มจธ. และบริษัทไบโอวิสท์ จำกัด ที่สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในการพัฒนาระบบบำบัดอากาศโดยใช้จุลินทรีย์หรือ Bio filter ขึ้นมาเพื่อใช้กำจัดแก๊สแอมโมเนียในอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร การกำจัดแอมโมเนียในอากาศค่อนข้างยุ่งยาก แต่งานวิจัยชิ้นนี้ เลือกใช้ “จุลินทรีย์” ในการกำจัดแอมโมเนียที่ปะปนในอากาศ โดยให้จุลินทรีย์กินแอมโมเนียในอากาศให้หมดไป
ประพัทธ์ กล่าวต่อว่า การใช้จุลินทรีย์กำจัดแอมโมเนียในอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำได้โดยติดตั้ง Bio filter ในบริเวณแหล่งกำเนิดกลิ่นเหม็น เพื่อกำจัดแอมโมเนียในอากาศ โดยใน Bio filter จะมีตัวกลางให้จุลินทรีย์เกาะและมีการสเปรย์น้ำและสารอาหารบ้างเล็กน้อย เนื่องจากจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ชอบอยู่ในน้ำ เมื่ออากาศที่มีแอมโมเนียปนเปื้อนอยู่ลอยผ่านจุลินทรีย์เหล่านั้น แอมโมเนียจะถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวของจุลินทรีย์ และจุลินทรีย์จะค่อยๆ กินแอมโมเนียอีกที
งานวิจัยนี้ใช้จุลินทรีย์ 2 ประเภทคือ 1. จุลินทรีย์จากธรรมชาติ โดยนำจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำเสียมาเลี้ยงให้ชินกับการกินแอมโมเนียแล้วจึงนำไปใช้งาน พบว่าจุลินทรีย์ชนิดนี้สามารถกำจัดแอมโมเนียในอากาศได้ร้อยละ 69-90 ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของแอมโมเนีย 2.จุลินทรีย์ที่ผ่านการพัฒนาและผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์ให้กินแต่แอมโมเนีย พบว่าสามารถกำจัดแอมโมเนียได้สูงถึงร้อยละ 70-97
ทั้งนี้ Bio filter บำบัดแอมโมเนียด้วยจุลินทรีย์ ยังมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เพราะการกำจัดแอมโมเนียด้วยวิธีการนี้ค่อนข้างถูกกว่าวิธีอื่น ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ประหยัดน้ำ และที่สำคัญประชาชนสามารถทำเองได้
นอกจาก Bio filter บำบัดแอมโมเนียด้วยจุลินทรีย์ จะใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารได้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในฟาร์มเลี้ยงหมู หรือจะนำไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมทุกประเภทที่ส่งกลิ่นเหม็นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ยังอยู่ในห้อง Lab แต่คาดว่าอีกไม่นานจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์อย่างแน่นอน