จุดเปลี่ยนทางการเมืองของประเทศสมาชิกยูโรโซน...อาจลากยาววิกฤตหนี้สาธารณะ

ต่างประเทศ
9 พ.ค. 55
09:44
23
Logo Thai PBS
จุดเปลี่ยนทางการเมืองของประเทศสมาชิกยูโรโซน...อาจลากยาววิกฤตหนี้สาธารณะ

จุดเปลี่ยนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฝรั่งเศส และการเลือกตั้งทั่วไปในกรีซเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2555 กลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ย้ำความเสี่ยงของวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป

 หลังจากที่ความพยายามในการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง ได้นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองในเนเธอร์แลนด์ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา

 
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เสียงสะท้อนจากภาคประชาชนที่มีความไม่พอใจต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการจัดการกับวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (ซึ่งยังไม่สามารถนำมาสู่ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม ณ เวลานี้) อาจไม่เพียงแค่นำไปสู่การเปลี่ยนตัวผู้นำทางการเมืองในฝรั่งเศสและกรีซ แต่อาจทำให้เสถียรภาพรัฐบาลของประเทศสมาชิกยูโรโซนหลายๆ ประเทศสั่นคลอนลงได้ในระยะข้างหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่งเยอรมนีที่กำลังอยู่ในช่วงการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ก่อนที่จะนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี 2556 ทั้งนี้ แรงกดดันที่นำไปสู่การเปลี่ยนตัวผู้นำทางการเมืองของประเทศสมาชิกยูโรโซน ทั้งที่วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปยังไม่สิ้นสุดลง อาจนำไปสู่ประเด็นคำถามต่างๆ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองดังนี้ :- 
 
กรีซไม่น่าจะออกจากยูโรโซน ความเป็นไปได้ที่รัฐบาลผสมใหม่ของกรีซจะนำโดยพรรคฝ่ายซ้าย หรืออาจจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนหน้าเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่นายแอนโทนิส ซามาราส ผู้นำพรรค New Democracy ซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากสุดจากการเลือกตั้ง คืนอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลให้กับประธานาธิบดีคาโรลอส ปาปูลิอาส หลังจากที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ดังนั้น พรรค SYRIZA ที่เป็นพรรคฝ่ายซ้าย ซึ่งมีผลคะแนนเลือกตั้งสูงเป็นอันดับ 2 จะได้รับโอกาสถัดไปให้ทำการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนายอเล็กซิส ซิปราสผู้นำพรรค SYRIZA ได้ปิดประตูการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เนื่องจากจุดยืนของพรรคฝ่ายซ้ายนั้น มองว่า การทำข้อตกลงรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (EU/IMF) ไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์วิกฤตของกรีซได้ ทั้งนี้ หากพรรคฝ่ายซ้ายไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมิถุนายน
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้จะมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลกรีซ แต่การออกจากยูโรโซนเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับกรีซ และไม่น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดของกรีซในการแก้ปัญหา ขณะที่ รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ก็น่าจะเลือกที่จะคงสถานะยืนหยัดเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไป เพราะแม้การกลับไปใช้สกุลเงินเดิมอาจเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการส่งออก แต่ระดับอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ที่จะต้องอ่อนค่าลงไปมากเพื่อสะท้อนความเปราะบางทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ ก็อาจทำให้กรีซต้องแบกรับภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น (ขณะที่ การประกาศหยุดการชำระหนี้ก็ไม่น่าจะทำให้ปัญหาการคลังได้รับการเยียวยาโดยสมบูรณ์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวโน้มการขาดดุลการคลังยังไม่สิ้นสุดลง 
 
ดังนั้น แม้แนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะมีความแตกต่างไปจากรัฐบาลชุดเดิม แต่ความจำเป็นเฉพาะหน้า ที่จะต้องประคับประคองสถานะทางการเงิน-การคลัง และความเชื่อมั่นของประเทศ ก็อาจทำให้การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายและจุดยืนที่มีต่อการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก EU/IMF คงจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป 
 
การเปลี่ยนตัวผู้นำในฝรั่งเศส...ไม่น่าจะเปลี่ยนท่าทีของฝรั่งเศสที่มีต่อยูโรโซน คงต้องยอมรับว่า จุดยืนที่ไม่สนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังที่เข้มงวดในช่วงหาเสียงของนายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำพรรค Socialist ที่แตกต่างไปจากนายนิโคลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีและผู้นำพรรค UMP นั้น ทำให้นายออลลองด์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี และนายซาร์โกซีต้องกลายเป็นผู้นำยุโรปคนล่าสุดที่ต้องพ้นจากตำแหน่งท่ามกลางสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของปัญหาหนี้ในยุโรป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า 
 
ช่วงหลังจากนี้ คงจะต้องจับตาว่า การเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของนายออลลองด์ที่ชูจุดยืนของการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการชะลอแผนการลดการใช้จ่ายของภาครัฐของรัฐบาลชุดก่อนนั้น จะนำไปสู่การทบทวนแผนการปฏิรูประบบยูโรโซน ที่นางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และนายซาร์โกซี ประธานาธิบดีคนเก่าพยายามผลักดัน และหรือจะนำไปสู่การเจรจาต่อรองกับสมาชิกอื่นๆ ในยูโรโซน เพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ESM หรือมาตรการกอบกู้วิกฤตหนี้ในรูปแบบอื่นๆ ในระยะข้างหน้าหรือไม่ เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า แม้ฝรั่งเศสจะคงสถานะเป็นสมาชิกยูโรโซน และไม่น่าที่จะเปลี่ยนท่าทีอย่างฉับพลันต่อยูโรโซน แต่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของฝรั่งเศสในช่วงหลังจากนี้ คงจะมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรของประเทศไปเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนฝรั่งเศสเป็นสำคัญ  
 
จับตาการเลือกตั้งในเยอรมนี ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงในช่วงขาลง และวิกฤตหนี้ยุโรปที่มีโอกาสเพิ่มระดับความรุนแรงในระยะข้างหน้า ทำให้คะแนนนิยมที่มีต่อนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนปัจจุบันลดน้อยลงเรื่อยๆ ดังสะท้อนจากการแพ้การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นในช่วงที่ผ่านมา 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้เยอรมนีจะเป็นประเทศสมาชิกยูโรโซนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจ การเงิน-การคลังที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ก็คงไม่สามารถปฏิเสธว่า การชูนโยบายหาเสียงของพรรคคู่แข่งที่แตกต่างไปจากจุดยืนของนางเมอร์เคล (ดังเช่นลักษณะการเลือกตั้งในฝรั่งเศส) ก็อาจทำให้นางเมอร์เคลต้องเผชิญกระแสการสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองระหว่างการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก่อนที่จะนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี 2556 ดังนั้นในช่วงหลังจากนี้ คงจะต้องติดตามประเด็นการกำหนดบทบาทของเยอรมนีในการต่อสู้กับวิกฤตหนี้ของยูโรโซน และความเต็มใจที่จะให้การสนับสนุนเม็ดเงินเข้าช่วยกอบกู้สถานการณ์วิกฤตของประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป 
 
ประเด็นสำคัญ คือ คะแนนเสียงในรัฐสภาที่จะกำหนดการดำเนินนโยบายของเยอรมนีต่อยูโรโซน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เยอรมนีคงจะไม่เปลี่ยนท่าทีของตนที่มีฐานะเป็นผู้นำยุโรป เพราะได้ฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ระดับหนึ่งแล้ว หากเยอรมนีถอยออกตอนนี้ ความน่าเชื่อถือก็จะเสื่อมหายไป 
 
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิกยูโรโซนหลายๆ ประเทศ (ซึ่งกรณีล่าสุดเกิดขึ้นในฝรั่งเศสและกรีซ) เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้วิกฤตหนี้ยุโรปมีโอกาสลากยาวออกไป ซึ่งก็เท่ากับว่า สถานะของยูโรโซนย่อมจะเกิดความสั่นคลอนมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกรีซซึ่งมีปัญหาหนี้สาธารณะและต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก EU/IMF อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแนวทางการรักษาวินัยทางการคลัง และการยอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ในขณะที่ จุดเปลี่ยนทางการเมืองในฝรั่งเศส ก็สะท้อนให้เห็นว่า การชูประเด็นหาเสียงที่แตกต่างไปจากแนวทางของรัฐบาลเดิมนั้น ได้รับการตอบรับจากภาคประชาชนมากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจยูโรโซนต้องจมอยู่กับวังวลของวิกฤตและการแก้ไขปัญหาที่ไม่จบสิ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 
 
ถึงจุดนี้ คงจะต้องติดตามพัฒนาการวิกฤตหนี้ต่อไป เพราะแม้ว่าประเทศสมาชิกยูโรโซนได้ให้การยอมรับและตกลงในแผน Roadmap ของแนวทางการปฏิรูประบบยูโรโซนเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนและหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤตรอบใหม่ไปแล้ว แต่การเปลี่ยนตัวผู้นำทางการเมืองของประเทศสมาชิกหลายๆ ประเทศ ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะต้องมีการเจรจาเพื่อหาจุดยืนร่วมกันรอบใหม่ ทั้งในเรื่องของแผน Roadmap ยูโรโซน และรายละเอียดของเครื่องมือต่อสู้วิกฤตอื่นๆ อาทิ กองทุน ESM ซึ่งผู้นำคนใหม่อาจมีจุดยืนที่แตกต่างไปจากรัฐบาลเดิม 
 
ดังนั้น พัฒนาการของวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังคงมีโอกาสพลิกผันสูง อาจเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินยูโรและสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ในระยะข้างหน้า ท่ามกลางประเด็นความกังวลที่มาจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจ การคลัง และภาคธนาคารของประเทศสมาชิกอื่นๆ ในยูโรโซน (โดยเฉพาะในสเปนและอิตาลี) ตลอดจนประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองที่รวมถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อนางแองเจลา เมอร์เคล ในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งครั้งใหญ่ของเยอรมนีในปี 2556 ซึ่งหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในเยอรมนีแล้ว (แบบเดียวกับฝรั่งเศส) ก็อาจทำให้อนาคตของวิกฤตหนี้ยุโรปเผชิญสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง