เปิดเทอมปีมังกร ภาวะค่าครองชีพสูง….ผู้ปกครองชะลอกำลังซื้อหันมาคิดก่อนจับจ่าย
ปัจจุบัน การศึกษาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีบุตรหลานที่กำลังศึกษาเล่าเรียน จะจัดสรรให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของครอบครัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลเปิดเทอมปี 2555 จะมีมูลค่าประมาณ 22,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากค่าธรรมเนียมทางการศึกษาที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายในส่วนของกิจกรรมการศึกษา และการเรียนเสริมทักษะภายนอกชั้นเรียน ที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทำให้บรรดาผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
โดยการจับจ่ายของผู้ปกครองในช่วงก่อนเปิดเทอม ภายใต้แรงกดดันจากภาวะค่าใช้จ่ายต่างๆ อาจทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่วางแผนในการเลือกซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น เพื่อจัดสรรเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของบุตรโดยตรง เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าเรียนกวดวิชา และค่าเรียนเสริมทักษะ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต่างเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญ โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในช่วงเปิดเทอม ผู้ปกครองอาจลดการใช้จ่ายในส่วนที่คิดว่าจะสามารถลดลงได้ และไม่กระทบต่อการศึกษาของบุตรมากนัก เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ที่จะคำนึงถึงความประหยัด รวมทั้ง อาจจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว เช่น การท่องเที่ยว การซื้อสินค้า และการสังสรรค์
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าผู้ปกครองในยุคปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการส่งบุตรหลานไปเรียนกวดวิชามากขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ค่อนข้างสูง ดังนั้น แนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองสำหรับการศึกษาของบุตรหลานในระยะยาว ทางภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่างๆ ควรเร่งปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา พัฒนาการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ภายในชั้นเรียนได้มากที่สุด เพื่อลดการพึ่งพิงการเรียนพิเศษจากโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่ผู้ปกครองต้องแบกรับได้
ทั้ง ทางภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่างๆ ควรพัฒนาหลักสูตรและวิชา เพื่อพัฒนาทักษะของนักเรียน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมกับอนาคตภายหลังจากที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2015 ระบบการศึกษาของไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา และการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้สามารถผลิตคนที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้
ขณะเดียวกัน การเปิดประตูสู่ AEC ก็อาจเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับธุรกิจการศึกษาของไทย ซึ่งด้วยศักยภาพของสถาบันการศึกษาชั้นนำบางแห่ง ที่มีคุณภาพในระดับสากลอาจเป็นโอกาสให้ประเทศไทยสามารถกลายเป็นศูนย์การทางการศึกษาของภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต