เผยลูกจ้างในไทยเหนื่อยหน่ายกับงานและอยากเปลี่ยนงาน
ผลสำรวจประจำปีของเคลลี่ เซอร์วิสเซส บริษัทจัดหางานชั้นนำระดับโลก ถึงดัชนีแรงงานโลก ระบุว่า ลูกจ้างจำนวนมากในประเทศไทยรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการทำงาน โดยเกือบครึ่งหนึ่งคิดอยู่บ่อยครั้งว่าจะลาออกจากงาน
เกือบสองในสามของผู้ตอบแบบสอบถาม (65%) เปิดเผยว่า ตั้งใจจะหางานทำกับบริษัทใหม่ภายในปีหน้า
“พนักงานจำนวนมากเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยหน่ายเมื่อคิดถึงเป้าหมายการทำงานในอนาคต หากนายจ้างไม่มอบหมายงานที่มีความสำคัญและไม่ให้โอกาสได้เติบโต พนักงานจำนวนมากก็พร้อมเปลี่ยนงานตลอดเวลาเพื่อประโยชน์ของตนเอง” วรรณา อัศวการินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เคลลี่ เซอร์วิสเซส ประเทศไทย กล่าว
ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจดัชนีแรงงานโลกของเคลลี่ (Kelly Global Workforce Index: KGWI) ซึ่งเป็นการสำรวจประจำปีที่จัดทำโดยเคลลี่ เซอร์วิสเซส โดยมีการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานเกือบ 170,000 คนใน 30 ประเทศ
การสำรวจนี้เป็นการพิจารณาปัจจัยที่ลูกจ้างใช้ประเมินนายจ้างที่ต้องการ บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกงาน และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการตัดสินใจเรื่องงาน
ผลสำรวจในประเทศไทยชี้ว่า ประชากรกลุ่ม Gen X (อายุ 31-48 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานหลัก มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนนายจ้างมากที่สุด โดย 68% ของกลุ่มนี้วางแผนว่าจะเปลี่ยนงานในปีหน้า เทียบกับ 62% ทั้งในประชากรกลุ่ม Gen Y (อายุ 19-30 ปี) และประชากรกลุ่ม Baby Boomers (อายุ 49-66 ปี)
แม้มีสัญญาณบ่งบอกถึงความเหนื่อยหน่ายในหน้าที่การงาน แต่ผู้ตอบแบบสอบถาม 60% เปิดเผยว่ายังมีความสุขกับงานที่ทำ
เกือบสามในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถาม (71%) กล่าวว่า งานที่ทำอยู่ในปัจจุบันทำให้รู้สึกว่าตัวเอง “มีค่า” ขณะที่ 76% ระบุว่า ความสามารถในการ “ยกระดับหรือพัฒนาตนเอง” เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้รู้สึกมีค่า
มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (70%) ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการตัดสินใจเรื่องงานหรือการจ้างงาน
“เห็นได้ชัดว่าหลายคนไม่มีความสุขกับงานที่ทำและพยายามหางานใหม่ ขณะที่อีกหลายคนพอใจกับงานพอสมควรแต่ก็พยายามหางานใหม่ที่มั่นคงและมีความหมายกว่าเดิม และพร้อมเดินออกมาจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถให้สิ่งที่พวกเขาต้องการได้” วรรณา อัศวการินทร์สรุป