เหตุปล้นรถขนเงิน ธ.กสิกรไทย คาดโยงกับเหตุปล้นธนาคารในอีกหลายพื้นที่
จากตำแหน่งผู้กำกับการ หัวหน้าสถานี พ.ต.อ.พิจิตร กรมประสิทธิ์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรไทรงาม ที่ขณะนี้กลายเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในคดี ร่วมกันปล้นรถขนเงิน ธนาคารกสิกรไทย สาขาอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และอยู่ระหว่างการหลบหนี แม้ว่าจะไม่ชัดเจนว่ายังกบดานอยู่ในประเทศ หรือหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว แต่ขณะนี้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งให้ทุกพื้นที่ ตรวจสอบ และติดตามจับตัวมาดำเนินคดี โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันตก
ขณะที่มีรายงานว่า ก่อนที่ พ.ต.อ.พิจิตร จะหลบหนีได้ติดต่อขอมอบตัวกับผู้บังคับการจังหวัดสิงห์บุรี โดยมีเงื่อนไขประกันตัว แต่เมื่อเรื่องนี้ ถูกรายงานถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง คำตอบคือ ไม่มีสิทธิต่อรอง ด้วยเหตุผลที่ผู้ก่อเหตุเป็นถึงนายตำรวจอยู่ในตำแหน่งสูง ได้ก่อเหตุอย่างอุกอาจ และนี่อาจเป็นอีกเหตุผลของการหลบหนี
จากการที่ พ.ต.อ.พิจิตร คุ้นเคยในพื้นที่ จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดในภาคเหนือตอนบน บวกกับมีความสนิทสนมกับนายตำรวจในภาคเหนือหลายคน จึงมีข้อสังเกตว่า พ.ต.อ.พิจิตร สามารถหลบหนีได้อย่างรวดเร็ว และทิ้งเบาะแสสุดท้ายเป็นสัญญาณโทรศัพท์ที่จังหวัดเชียงราย
สำหรับมูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุ แม้จะไม่มีใครตอบแทน พ.ต.อ.พิจิตรได้ แต่จากการสอบสวนผู้ร่วมก่อเหตุ และคนคุ้นเคย พบหลายประเด็นน่าสงสัย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล, มีหนี้สิน และอาจเชื่อมโยงประเด็นเงินที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่ง ตั้งแต่ก่อนมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรไทรงาม และเพื่อเตรียมโยกย้ายไป พื้นที่อื่น ซึ่งมีแหล่งข่าวให้ข้อมูลว่าตำรวจภูธรแม่สอด จังหวัดตากคือเป้าหมายต่อไป
ล่าสุดมีคำสั่งให้ตำรวจภูธรภาค 1 และภาค 6 ตรวจสอบคดีปล้นรถขนเงิน ในหลายพื้นที่ เพราะจากพฤติกรรม และรูปแบบการปล้นคล้ายกันอาจเป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น กรณีปล้นรถขนเงินธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ซึ่งครั้งนั้นคนขับรถขนเงินขับรถหลบหนีได้ ผู้ก่อเหตุจึงไม่ได้เงินไป ส่วนอีกคดีคือ กรณีปล้นรถขนเงินธนาคารทหารไทย สาขาพหลโยธิน หน้าศูนย์ท่ารถนครสรรค์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 สำหรับกรณีนี้ได้เงินไปถึง 8 ล้านบาท