คณะผู้วิจัยโครงการศึกษาผลกระทบของการดำเนินนโยบายรายได้ค่าแรงไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี ไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ที่มีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เสนอรัฐบาล ปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ในอีก 70 จังหวัดที่เหลือ เป็น 2 ครั้ง เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของธุรกิจที่มีต้นทุนค่าแรงสูง และไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย เสนอว่า รัฐบาลควรปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ใน 70 จังหวัดที่เหลือเป็น 2 ครั้ง แทนการปรับขึ้นพร้อมกันทั้งหมดเพียงครั้งเดียวในปี 2556 โดยแบ่งเป็น 18 จังหวัดในส่วนกลางก่อน แล้วค่อยปรับในอีก 52 จังหวัดที่เหลือในปี 2557 และไม่ควรคงอัตราค่าจ้างของจังหวัดที่ปรับขึ้นแล้วแต่ควรให้มีการปรับขึ้นตามค่าครองชีพไปพร้อม ๆ กัน เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานต้องยากจนลง
จากผลการศึกษาขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างส่งผลให้มีการเลิกจ้างหรือจ้างงานลดลงและถูกลดชั่วโมงการทำงาน หรือลดช่องว่างทางสังคมหรือส่งผลให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น เพราะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศไทย โดยกลุ่มแรงงานที่น่าจะได้รับผลกระทบก็คือแรงงานจบใหม่หรือแรงงานไม่มีฝีมือ ซึ่งระยะสั้นจะเห็นได้ว่าส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เช่น ราคาอาหารที่สูงขึ้น
ขณะเดียวกันได้ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี บางเล็กน้อยเพราะเป็นการขึ้นเพียง 7 จังหวัด ส่วนการขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ของรัฐบาลนั้นไม่ส่งผลกระทบกับภาคเอกชน