กทม.ยืนยันต่อสัญญา
ผู้บริหารกรุงเทพมหานครย้ำว่าการต่ออายุสัญญาว่าจ้างการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสระหว่างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด กับ บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด มหาชน ดำเนินการถูกต้อง โดยยึดกฎหมายบริหารราชการ กทม.ปี 38 แทนการใช้กฎหมายร่วมทุน และพร้อมชี้แจงกับกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ป.ป.ช.
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีการต่ออายุสัญญาว่าจ้างการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสระหว่าง บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด(เคที) กับบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด มหาชน ไปอีก 13 ปี รวมเป็น 30ปี โดยยืนยันว่า การดำเนินการไม่ได้เข้าข่ายกฎหมายว่าด้วยการใช้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินกิจการของรัฐปี 2535หรือ กฎหมายร่วมทุน เนื่องจาก สัญญาเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ กรุงเทพมหานคร ยึดกฎหมายบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2528 มาตรา 89 (8) ในการบริหารระบบขนส่งมวลชน
ส่วนการแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด โดยวิธีพิเศษ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครแล้ว และเพื่อเอื้อประโยชน์สำหรับการบริหารระบบขนส่งมวลชน ซึ่งข้อบัญญัติดังกล่าว ใช้รองรับรายละเอียดของกฎหมายบริหารราชการกทม.ปี 2528 ทั้งนี้ กฎหมายร่วมทุน จะมีคณะกรรมการประสานงานและกำกับโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ประชุมร่วมกันปีละ 2 ครั้ง เพื่อรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับทราบ ซึ่งในคณะกรรมการมี สนข. และ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยและ กทม. เข้าร่วมประชุม และในสัปดาห์หน้า จะรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการนี้ได้รับทราบว่า สัญญาดังกล่าวไม่ใช่การต่ออายุสัมปทาน
ด้านหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า เคารพในกระบวนการตรวจสอบของป.ป.ช. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จึงไม่กังวลและเตรียมเอกสารชี้แจงไว้พร้อมหมดแล้ว หากยังพบว่า กทม.ทำผิดก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า แต่ยืนยันมาโดยตลอดว่าการดำเนินการ ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งการจ้างเดินรถในระยะยาว จะทำให้ระบบรถไฟฟ้ามีความสะดวกและปลอดภัย และเป็นความตั้งใจที่จะให้ผู้ว่ากทม.สมัยหน้า สามารถกำหนดค่าโดยสารได้เอง
ขณะเดียวกันนายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด(เคที) จะยื่นเอกสารการต่ออายุสัญญาว่าจ้างการเดินรถไฟฟ้า ให้กับ ดีเอสไอ ในวันนี้(23พ.ค.)หลังได้รับการร้องขอ และวันพรุ่งนี้(24พ.ค.) นายธีระชน จะเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายทำผิดกฎหมาย 4 ฉบับ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา