กรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาฯเตรียมเชิญ "ศศินทร์-กฤษฎีกา" ให้ข้อมูล กรณีต่อสัญญาบีทีเอสอีก 13 ปี

การเมือง
24 พ.ค. 55
14:15
33
Logo Thai PBS
กรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาฯเตรียมเชิญ "ศศินทร์-กฤษฎีกา" ให้ข้อมูล กรณีต่อสัญญาบีทีเอสอีก 13 ปี

กรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ หรือ ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเรียกสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการต่ออายุสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสอีก 13ปี หลังจากวันนี้ ( 24 พ.ค.) เชิญผู้บริหารกทม. และ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด มาชี้แจงโดย กทม.ยืนยันว่า ไม่ใช่การต่ออายุสัญญาสัมปทาน แต่เป็นการว่าจ้างเดินรถไฟฟ้า

คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฏร ได้ตั้งคำถามกับนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ถึงความเร่งรีบในการต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟ้ฟ้าบีทีเอสไปอีก 13ปี ทั้งที่เหลืออายุสัมปทาน 17ปี และ เป็นอำนาจของกทม.หรือกระทรวงมหาดไทย

ซึ่งนายธีระชน ชี้แจงว่า สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส เกิดก่อนที่กฎหมายร่วมทุนจะบังคับใช้ กทม.จึงเลือกใช้กฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครปี 2528 มาตรา 89 ( 8 ) ที่ให้ กทม.สามารถจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ด้วยวิธิพิเศษได้ พร้อมกับยืนยันว่า กทม.ไม่ได้ต่ออายุสัญญาสัมปทาน แต่เป็นการว่าจ้างการเดินรถไฟฟ้าเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รองประธาน กมธ. ซักถามว่า การจ้างเดินรถครั้งนี้ มองได้ว่า อาจมีการทำนิติกรรมอำพรางคนกทม.จะได้ประโยชน์อะไร และ เป็นการคิดแทน ผู้ว่ากทม.ฯ ในอนาคตถึง 6 คน ซึ่งนายธีระชน ชี้แจงว่า ผู้ว่าฯกทม.สมัยหน้าสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารเองได้เพราะได้ออกข้อบัญญัติกำหนดค่าโคยสารรองรับไว้แล้ว ซึ่งการจ้างเดินรถระยะยาวช่วยประหยัดงบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท

ขณะที่นายอมร ปฏิเสธข้อถามของนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า มีการแก้ข้อบัญญัติการพัสดุปี 2552 ให้กรรมการผู้อำนวยการบริษัทเคที มีอำนาจลงนามจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่จำกัดวงเงิน โดยนายอมร บอกว่า ไม่เป็นความจริง เพราะมีอำนาจลงนามจัดซื้อจัดจ้างได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนประธานกรรมการมีอำนาจไม่เกิน 10 ล้านบาทหากมากกว่านั้น ต้องผ่านการอนุมัติจาก ผู้ว่าฯกทม.

กมธ.ปปช. ยังขอให้กทม.นำข้อมูลตัวเลขที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ช่วยประหยัดงบฯกว่า 6,000 ล้านบาท มาชี้แจงเพิ่มเติม และเตรียมเชิญสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาให้ข้อมูล

ขณะที่นายธิริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ บอกว่า ขณะนี้รอหนังสือตอบกลับจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า การต่อสัญญาว่าจ้างการเดินรถเป็นอำนาจของ กทม.หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ระบุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาสัมปทานแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งหาก กทม.ไม่มีอำนาจ จะถือว่าการทำนิติกรรมเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น โดยดีเอสไอ จะรอเอกสารชี้แจงจากกระทรวงมหาดไทยตอบกลับมาภายในวันที่ 29 พ.ค.นี้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง