ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจฯชี้ นโยบายค่าจ้าง 300 ทำเอสเอ็มอีไทยรั้งท้ายอันดับ 5 ในอาเซียน

เศรษฐกิจ
29 พ.ค. 55
07:12
15
Logo Thai PBS
ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจฯชี้ นโยบายค่าจ้าง 300 ทำเอสเอ็มอีไทยรั้งท้ายอันดับ 5 ในอาเซียน

ผลวิเคราะห์ ของศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้ว่านโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทยเป็นวันละ 300 บาท ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันเอสเอ็มอีภาคการผลิตของไทย ตกจากอันดับ 2 ในอันดับที่ 5 ในอาเซียน และอาจทำให้ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร จะประสบปัญหา หลังการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปี

ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันคะแนนของเอสเอ็มอีในอาเซียนหลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทในไทย และ 30 ริงกิตต่อวันในมาเลเซีย ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-15 และมีผลให้อันดับคะแนนของ 2 ประเทศลดลง โดยมาเลเซียเคยอยู่อันดับ 1 ตกลงมาอยู่อันดับ 4 และไทยตกลงมาอันดับ 5 จากอันดับ 2 พร้อมส่งผลให้เวียดนามขึ้นอันดับ 1 แทน

 
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ตั้งข้อสังเกตว่าแม้ถูกลดอันดับแต่ระดับคะแนนไม่แตกต่างกันนัก ไทยจึงยังพอปรับประสิทธิภาพการผลิตได้ทัน หากภาครัฐเร่งส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการบางส่วนที่เป็นต้นแบบแล้วเผยแพร่ แทนการปรับเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลานาน
 
ทั้งนี้ผลวิเคราะห์ ใช้ข้อมูลการสำรวจผู้ประกอบการของธนาคารโลกในระหว่างปี 2549-2552 จากกลุ่มตัวอย่างในภาคการผลิตจำนวน 3,161 ราย จาก 5 ประเทศกลุ่ม 5 เสืออาเซียนรุ่นใหม่ เป็นข้อมูลฐาน ซึ่งไม่นับรวมสิงคโปร์ ที่มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันมากเกินไป
 
นาอกจากนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่า หลังใช้นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทยเป็นวันละ 300 บาทผ่านไปแล้ว 2 เดือน ภาพรวมไม่มีผลกระทบกับผู้ประกอบการมากนัก เพราะภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงานอีกมาก จากอัตราการว่างงานที่ต่ำเพียงร้อยละ 0.73 เช่นเดียวกับการเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่อุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง
 
แต่นายอิทธิชัย ยศศรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มองว่า ยังมีความกังวลในกลุ่มวิสาหกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร ที่ยังขาดการสนับสนุนเทคโนโลยี เช่นการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ยังไม่สามารถรวมกลุ่มให้เข้มแข็ง และยังมีปัญหาการบูรณาการทำงานระหว่างผู้รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง