ในการประชุมสุดยอดด้านสื่อสารมวลชนแห่งเอเชีย แปซิฟิก ครั้งที่ 9 ในการเสวนาแลกเปลี่ยนในหัวข้อการสร้างสื่อสาธารณะ ในการประชุมหัวข้อที่ 2 นี้มีการแลกเปลี่ยนความรู้จากหลายประเทศ การสร้างสื่อสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างคนที่อ่านสื่อ และสามารถชมสื่อได้อย่างเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากสื่อได้มากที่สุด
นายอาร์ต ซิลเวอร์แบลตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัย เว็บเตอร์ สหรัฐอเมริกา มองว่าการศึกษาที่จริงจังเรื่องสื่อสารมวลชน จะทำให้ประชาชนได้เข้าใจสื่อมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงการสร้างความเข้าใจกับสื่อด้วย และทิศทางของผู้บริโภคสื่อที่มีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจ และรู้เท่าทันสื่อในปัจจุบัน และจะสามารถนำข้อมูลที่ได้มานั้นมีเหตุมีผลอย่างไร ทั้งนี้การที่จะทราบว่าแต่ละประเทศมีความเป็นอยู่หรือวัฒนธรรมอย่างไรนั้น สามารถดูจากสื่อของประเทศนั้นๆ ได้
สอดคล้องกับ นายริคาร์โด ซาลูโด ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาสตร์และข้อมูล ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวถึงวงการศึกษาในปัจจุบันหลายประเทศมีแนวคิด และแนวทางในการกลั่นกรองการศึกษาเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่ออย่างจริงจัง เช่นในประเทศอินเดีย ที่มีการให้การศึกษาแก่ผู้คนที่สนใจมานานกว่า 10 ปี การศึกษาเรื่องสื่อสารมวลชนจะสอนให้คนได้รู้จักคิดในเชิงคิดวิเคราะห์ รวมทั้งการสื่อสารกับพ่อ หรือแม่ เพื่อช่วยในเรื่องการศึกษาแก่ลูก โดยในประเทศฟิลิปปินส์มีการผลักดันเรื่องการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนมากขึ้น จากผลการสำรวจนั้นพบว่าส่วนใหญ่เยาวชนคิดว่าสื่อมวลชนมีการนำเสนอเรื่องเพศมากเกินไป ทำให้เยาวชนไม่เห็นความสำคัญเรื่องสื่อมากนัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศมักจะไม่ได้รับการยอมรับมากนัก ดังนั้น สื่อมวลชนจึงควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคมมากขึ้น
นางกมลรัตน์ อินทรทัต อาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการศึกษาเรื่องสื่อสารมวลชนในประเทศไทยนั้น มีการทยอยฝึกอบรมครูเพื่อไปสอนเด็กนักเรียนอีกทีหนึ่ง และยังกล่าวอีกว่า ศูนย์เทเลเซนเตอร์ มีเดีย เป็นประโยชน์มาก แต่กำลังปรับเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง จากคนที่ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงให้มีการสร้างสรรค์มากขึ้น การเข้าถึงสื่อต่างๆ ของประชาชนทั่วประเทศนั้น จะมีสื่อทางเลือกเข้ามาด้วย การสร้างสื่อให้ถึงคนทุกกลุ่มให้ได้ และเป็นประโยชน์สูงสุด คนที่ทำสื่อจริงๆ จะต้องมีทักษะเพิ่มเติมมากขึ้น