ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รัฐธรรมนูญ ม. 143 ให้อำนาจประธาน กมธ. 35 คณะชี้ขาด เข้าข่าย พ.ร.บ.การเงินหรือไม่

การเมือง
31 พ.ค. 55
07:27
49
Logo Thai PBS
รัฐธรรมนูญ ม. 143 ให้อำนาจประธาน กมธ. 35 คณะชี้ขาด เข้าข่าย พ.ร.บ.การเงินหรือไม่

การเปิดประชุมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎรกับประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 35 คณะ ในวันนี้ (31 พ.ค.) ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะหาข้อสรุปว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติทั้ง 4 ฉบับที่บรรจุอยู่ในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างกฎหมายการเงินหรือไม่

มาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ว่า ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึง ร่างกฎหมายที่เป็นเรื่องที่จะมีผลกับภาษีหรืออากร ซึ่งต้องจัดสรรหรือโอนงบประมาณแผนดิน หรือต้องกู้เงิน หรือตราเงินขึ้น

ซึ่งในวรรค 2 ระบุไว้ว่า หากสงสัยว่าร่างกฎหมายนั้นๆ เป็นร่างกฎหมายการเงินหรือไม่ จะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีในตอนท้ายของร่างกฎหมายที่จะเสนอต่อสภา แต่หากไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นร่างกฎหมายการเงินหรือไม่ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาเป็นผู้วินิจฉัย และวรรค 3 ระบุว่า หลังเกิดเหตุสงสัยให้จัดประชุมร่วมกันใน 15 วัน และให้เป็นมติที่ประชุม โดยยึดเสียงข้างมาก แต่ถ้าโหวตเสียงแล้ว ผลคะแนนเท่ากัน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียง เพื่อชี้ขาด

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.พรรคมาตุภูมิ เขียนไว้ในมาตรา 5 ของร่างกฎหมายว่า ผู้กระทำผิดหรือถูกกล่าวหาจากเหตุยึดอำนาจให้พ้นจากข้อกล่าวหาหรือความผิดนั้น และองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบนั้น ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม

สำหรับระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 42 และ 43 เขียนไว้ว่า ญัตติด่วนที่จะเสนอต่อสภานั้น ต้องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ เพื่อศีลธรรมอันดี เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจ หรือเพื่อป้องกันเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นเท่านั้น

ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร มีประธานคณะกรรมาธิการ รวม 35 คน และประธานสภาที่ร่วมประชุมคือ 1 คน ดังนั้นเสียงข้างมาก คือ 17 เสียงขึ้นไป โดยสรุปแล้ว ถ้าลงคะแนนแล้วเสียงเท่ากัน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ก็คือ 1 เสียงที่จะชี้ขาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง