ครบรอบ 1 ปีเหตุแผ่นดินไหว จ.เชียงราย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ทำให้มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 7 อำเภอ 45 ตำบล 519 หมู่บ้าน ส่งผลต่อสิ่งปลูกสร้าง ทั้งอาคารบ้านเรือน วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ รวมไปถึงถนน ซึ่งแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนั้น สามารถรู้สึกได้ในหลายจังหวัดภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะบนตึกสูงในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครที่มีความสูงมากกว่า 10 ชั้นขึ้นไป
สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวกรมอุตุนิยมวิทยา สรุปสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งนั้นว่า ระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม 2557 มีอาฟเตอร์ช็อก ขนาด 5.0-5.9 7 ครั้ง ขนาด 4.0-4.9 23 ครั้ง ขนาด 3.0-3.9 85 ครั้ง และขนาดน้อยกว่า 3.0 จำนวนมากกว่า 292 ครั้ง
ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและนักวิชาการด้านวิศวกรรมหลายคน มองว่า เหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทยสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะประเทศไทย มีจุดเสี่ยงที่มีรอยเลื่อนมากถึง 14 จุด ขณะที่โครงสร้างบ้านเรือน และอาคารสูงหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารเก่า ไม่ได้สร้างอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม จึงไม่สามารถต้านแรงลมและการไหวของแผ่นดินได้
เกือบ 1 ปี หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เชียงราย หลายหน่วยงานมีความพยายามในการแก้ปัญหา และวางแนวทางในการรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว เช่น การเชื่อมโยงเครือข่ายสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวทั้งในประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ศึกษาความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเพื่อกำหนดเกณฑ์ปลอดภัยในการออกแบบก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และระบบสาธารณูปโภคให้ต้านแรงแผ่นดินไหวติดตามพฤติกรรมและศึกษารูปแบบการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนมีพลังและสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจสร้างความตระหนักในการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหว