อดีตรองประธานยกร่างรธน.ปี2550 ชี้คำวินิจฉัยของศาลเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ๕๐ แสดงความเห็นต่อกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าในฐานะที่ตนเป็น ประธานยกร่าง ในส่วนที่ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนรวมของประชาชน การกระจายอำนาจ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้นทราบดีว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ๕๐ เพราะสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ๕๐ให้ประโยชน์โดยตรงต่อ ประชาชน 4 ประการคือ 1.คุ้มครอง ส่งเสริม ขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ 2.ลดการผูกขาดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน 3.การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม 4.ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความอิสระ เข้มแข็งและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ชูชัย ยกตัวอย่างรูปธรรมบางมาตราว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นมากกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมา อย่างชัดเจน ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อ สิทธิเด็กเยาวชน สิทธิของบุคคลที่ไร้ที่อยู่อาศัย ให้สิทธิประชาชนเป็นครั้งแรกโดยกำหนดให้ประชาชนห้าหมื่นคนสามารถเสนอแก้ไขเพิ่เติมรัฐธรรมนูญ ได้โดยตรง นอกจากนี้ยังลดจำนวนประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายจาก 50,000 ชื่อเหลือเพียง 10,000 ชื่อ และที่สำคัญคือ สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองไว้แม้ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมา รองรับ ประชาชนก็สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นได้ทันที
โดยการร้องขอต่อศาล(คำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญที่๓/๒๕๕๒วันที่๑๘มีนาคม๒๕๕๒)อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่ให้สิทธิชุมชนฟ้องศาลได้ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิชุมชน ในส่วนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเป็นครั้งแรกที่ระบุแนวนโยบายการมีส่วนร่วมของ ประชาชนที่ละเอียดและชัดเจนในมาตรา๘๗ที่มีข้อย่อยถึง ๕ ข้อเพื่อกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการตามแนว นโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และวางแผนส่งเสริมการตรวจสอบการใช้ อำนาจรัฐทุกระดับ เป็นต้น
สำหรับในมาตรา๖๘ที่มีข้อถกเถียงกันอยู่นั้น การตีความตามตัวอักษรต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ๕๐ดังกล่าวแล้วข้างต้น หากพิจารณาตามตัวอักษรหรือรูปประโยคจะเห็นว่าประโยค เริ่มต้นด้วย "ผู้ทราบการกระทำ" เป็นประธานของประโยค ไม่ใช่ "อัยการสูงสุด" เป็นประธานของประโยค ดังนั้นประชาชนผู้ทราบการกระทำย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการได้ในเวลาเดียวกัน แต่หากตีความว่าอัยการสูงสุดเป็นประธาน ของประโยค ผู้ทราบการกระทำก็ได้ยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อสามเดือนที่แล้ว นอกจากนี้หากไปพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะพบว่าในมาตรา 212 ที่ให้สิทธิประชาชน ผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ในกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่น ได้แล้ว”
“สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50ทั้งฉบับในภาพรวมที่ขยายสิทธิและเพิ่มอำนาจ ให้ประชาชนอย่างเต็มที่ดังกล่าวแล้วว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญได้กลไกอื่นใดจะมาขัดขวาง การเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญของประชาชนมิได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลในเรื่องการตรวจสอบการละเมิด สิทธิเสรีภาพว่า หากกลไกที่มีอยู่แล้ว แต่เห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความล่าช้าเกินความจำเป็น ก็สามารถแสวงหากลไกอื่นที่มีอยู่ในการคุ้มครองการถูกละเมิดสิทธิได้ ดังนั้นการดำเนินการของ ศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวตนเห็นว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว” นพ.ชูชัยกล่าว