"องค์กรพัฒนาเอกชน" วิจารณ์สับร่างปฏิญญาฯ สิทธิมนุษยชนอาเซียน

11 มิ.ย. 55
14:47
29
Logo Thai PBS
"องค์กรพัฒนาเอกชน" วิจารณ์สับร่างปฏิญญาฯ สิทธิมนุษยชนอาเซียน

โดย สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล

 เข้าสู่กระบวนการขั้นปลายเข้ามาทุกขณะสำหรับการเดินทางของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียน ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือ ไอชา (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights -AICHR) ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ  AICHR ถือเป็นกลไกคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนกลไกใหม่ในภูมิภาคอาเซียน  โดยมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งในขณะนี้กำลังเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำร่างเสนอต่อกรรมการอาอาเซียนในเดือนกรกฎาคม 2555 นี้

 
ขณะที่กระบวนการยกร่างกำลังจะถึงขั้นตอนสุดท้าย แต่เนื้อหาและความลงตัวครอบคลุมได้มาตรฐานสากลกลับยังพร่าเลือนและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากตัวแทนเอ็นจีโอไทย โดย เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานางสาวสุภาวดี เพชรรัตน์ตัวแทนเอ็นจีโอ  ในนาม Asian Watch Thailand ได้วิพากษ์วิจารณ์ร่างปฏิญญาผ่านเวทีอภิปราย เรื่อง “ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ซึ่ง ดำเนินรายการโดยดร.เสรี นนทสูติ ผู้แทนไทยในคณะทำงานยกร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

น.ส.สุภาวดี กล่าวว่า ตนและกลุ่มอาเซียนวอชได้ติดตามกระบวนการร่าง ติดตามเนื้อหาในร่างปฏิญญาฉบับนี้มานาน ซึ่งมีหลายประเด็นที่คับแคบและหลายประเด็นไม่สามารถปกป้องสิทธิให้กับประชาชนอาเซียนพ้นจากการถูกละเมิดสิทธิได้ ตนเองจึงอยากเสนอเพิ่ม ปรับและตัดออกบางส่วน

 
“ก่อนอื่นต้องบอกว่า ทางกลุ่มเริ่มรวมตัวกันตั้งแต่ปี 2552 ในนามภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนในอาเซียน จริงๆ แม้ว่ากลุ่มประชาคมอาเซียนจะมีพื้นที่ให้ภาคประชาชนน้อยมาก แต่ก็มีมีภาคประชาชนอาเซียนกลุ่มหนึ่งที่พยายามเข้าไปในประชาคมอาเซียนตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมาจนถึงปีนี้ ซึ่งเรามีการจัดมหกรรมประชาชนอาเซียนที่ไปแล้วที่กัมพูชา เราจึงมีเครือข่ายของภาคประชาสังคม เพราะเรามองว่าเรื่องนี้ ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ใน Asian charter หรือในกฎบัตรอาเซียนพูดไว้ชัดเจนเลยว่า อาเซียนต้องมีประชาสังคมเป็นศูนย์กลาง และที่ผ่านมาในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนก็มีความพยายามของกลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มที่ทำงานด้านผู้หญิง กลุ่มคนพิการ กลุ่มเด็กที่ได้เสนอแนะต่อการร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน  วันนี้เราได้มาเป็นตัวแทนอีกครั้ง แม้ว่าเราจะเป็นจะกลุ่มเล็กๆ ก็ตาม
 
สิ่งที่อยากจะนำเสนอในปฏิญญาอาเซียน คือตัวปฏิญญาอาเซียนนี้ มันอาจจะเป็นเอกสาร เป็นกลไกที่จะนำมาสู่การทำงานในอนาคต ซึ่งเรายังคงเห็นร่วมกันว่า ปฏิญญานี้ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล และสามารถที่จะทันในสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตด้วย เพราะเรามองว่า สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต มันอาจจะไม่มีระบุไว้ในกฎบัตรนี้ก็ได้ และเรายังมองว่ากระบวนการการมีส่วนร่วมในภาคประชาสังคมในอาเซียนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ได้มองเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมไทยเท่านั้น ซึ่งเราต้องชื่นชมนะคะว่า ภาคประชาสังคมไทยมันเป็นตัวอย่าง เป็นโมเดลการสร้างการมีส่วนร่วมด้วย แล้วเพื่อนอีก 7-8 ประเทศที่เป็นสมาชิก เขาได้มีส่วนร่วมในการร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้  ด้วยหรือไม่อย่างไร ?    
 
คือตอบได้เลยว่า  มีน้อยมาก แต่ยังดีว่า มีเพื่อนเราชาวต่างประเทศที่ประเทศของเขาไม่เปิดแต่เขาก็พยายามจะเข้ามาร่วมเวทีภาคประชาสังคมในประเทศอื่นๆ เรื่องนี้ต้องชื่นชม ที่สำคัญเราต้องตั้งคำถามร่วมกันว่า ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ ถ้าบิดเบี้ยวต่ำกว่ามาตรฐานสากล เราจะยอมให้มันเกิดขึ้นหรือเปล่า ? แน่นอนว่ามันอาจจะเป็นภาระกับกรรมการร่างปฏิญญานี้ ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายในเวลาไม่นานจากนี้ แต่ถ้ามันสำคัญ สิ่งเหล่านี้ก็ต้องสำคัญด้วยเหมือนกัน” น.ส.สุภาวดีเผย ก่อนจะลงลึกไปสู่ปัญหาของถ้อยคำในร่างปฏิญญา ว่า คลุมเครือและสะท้อนความคับแคบซึ่งไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้จริง
 
“ในปฏิญญาเองก็มีหลายคำ ที่เราอ่านแล้วก็รู้สึกเป็นห่วง เพราะ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนั้นมันอาจจะนำมาสู่การจำกัด หรือเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ที่จะนำมาใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ได้ อย่างเช่น คำว่า ความมั่นคงของชาติ หรือ National Security หลายครั้งจากประสบการณ์ของภาคประชาสังคมนะค่ะ การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีต่อประชาชนนั้น ถูกอ้างคำนี้ค่อนข้างเยอะ คำนี้มีการเขียนไว้ในหลายๆ มาตราด้วยกัน ดิฉันจึงอยากตั้งข้อสังเกตกับคณะกรรมการ ซึ่งต้องระมัดระวัง
 
ส่วนในด้านความสงบเรียบร้อยในเรื่องของศีลธรรม อาจจะไปจำกัดสิทธิของคนบางกลุ่ม เช่นในคำว่า citizen หรือ Good citizen  พลเมืองหรือพลเมืองดี เราก็มองว่า ถ้ามันใช้คำนี้ มันจะได้พูดถึงเรื่องนี้ไหม แต่ร่างก่อนๆ นี้ได้พูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งเรามองว่า ต้องระมัดระวัง เพราะว่ามันอาจจะจำกัดสิทธิของคนกลุ่มอื่นนะคะ ที่ไม่ใช่พลเมืองหรือพลเมืองดี เพราะเรามองว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่เป็นมนุษย์นั้น ต้องสามารถที่จะเข้าถึงได้ อีกคำหนึ่งก็คือว่า ภายใต้กฎหมายในประเทศ ซึ่งเราพบว่าในหลายประเทศมีกฎหมายจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานมาก เช่นสิทธิในการรวมกลุ่มเกิน 5 คน ห้ามออกมาเดินเรียกร้องโดยสันติ ถ้าใครเดินออกมาคุณก็จะถูกจับ เรามองว่าคำพวกนี้ ต้องให้ความระมัดระวังและต้องพิจารณาในแต่ละข้อว่ามัน sensitive หรือไม่  อย่างไร
 
อีกคำคือ คุณค่าอาเซียนและวิถีอาเซียน  ความเฉพาะเจาะจงของอาเซียนเราค่อนข้างชัดเจนว่ามันไม่ควรจะมีคำเหล่านี้ปรากฏในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะมันไม่มีการให้คำจำกัดความไว้ได้ชัดๆ และแทนที่จะเป็นเรื่องบวกมันกลับเป็นเรื่องลบมากกว่า เมื่อถูกหยิบยกขึ้นมาใช้
 
ส่วนเรื่อง สิทธิในสันติภาพ Right to Peace  ถึงแม้จะมีบางข้อพูดถึง แต่มันยังพูดแบบกว้างๆ มาก เช่นพูดเรื่องสันติภาพ มันไม่ได้หมายความว่า การไม่มีสงครามแต่อย่างเดียว แต่มันหมายถึงเรื่องการถูกทำให้เกิดความไม่มั่นคงในมนุษย์และ ในเรื่องอื่นๆ ด้วย ความจริงเรามีข้อเสนอเชิงรายละเอียดเยอะนะคะแต่จะขอหยิบยกข้อสำคัญๆ มาพูด
 
นอกนั้นเป็นเรื่องปลีกย่อยรายมาตรา เช่นหมวดหลักการพื้นฐาน เรื่องความแตกต่างระหว่างหญิงชาย คือคำนี้ไม่ควรจะใช้เพราะว่าสังคมปัจจุบันมีความหลากหลายทางเพศ อย่างประเด็นผู้หญิงเรื่องสิทธิการแต่งงาน สมรส สร้างครอบครัว เราต้องเข้าใจก่อนว่า ครอบครัวคือหน่วยทางธรรมชาติ เราจึงมีคำถามในคำว่า ครอบครัวนี้ หมายถึงเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นผู้หญิงผู้ชายเท่านั้นหรือเปล่า เพราะว่าสังคมปัจจุบันมีความหลากหลายของครอบครัวมาก ซึ่งเพื่อป้องกันการละเมิดหน่วยครอบครัวอื่นๆ ก็อยากเสนอให้ตัดคำนี้อออกไป ค่ะ ส่วนคำว่าหญิงและชายก็เสนอให้ใช้คำว่าบุคคลแทนไปเลย
 
ส่วนในเรื่องสิทธิเสรีภาพ มโนธรรมและศาสนา เขียนว่า บุคคลมีสิทธิเสรีในมโนธรรมศาสนา เราก็อยากเสนอว่า นั่นมันแค่เสรีภาพทางความคิด มันไม่พอ มันอาจจะต้องพูดถึงสิทธิในการปฏิบัตินะคะ ทั้งในเชิงของศาสนาและความเชื่อด้วย ซึ่งเราอาจจะต้องเสนอให้เพิ่มคำว่าความเชื่อด้วยเพราะว่ากลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคนี้มีความหลากหลายมาก มันมีความสวยงามในตัวนะคะ และสิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ตรงนี้ก็เสนอว่าไม่ใช่แค่การก่อตั้งสหภาพแรงงาน แต่อยากให้มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวด้วยเพราะสหภาพในหลายประเทศมันถูกควบคุมโดยรัฐ และเรายังอยากเสนอว่าให้เพิ่มคำว่าสมาคมหรือองค์กรด้วยเช่นกัน
 
สุดท้ายเรื่องหน้าที่แล้วก็ความรับผิดชอบ เรื่องนี้เห็นด้วยกับแนวความคิดกรรมการที่เป็นตัวแทนจากประเทศไทย เรื่องสิทธิความรับผิดชอบของบริษัทเอกชน ที่จะต้องมีความรับผิดชอบและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้คำนึงถึงผลกระทบจากโครงการต่างๆ คำนึงถึงมีกระบวนการที่มีความโปร่งใส มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม  และในส่วนของความคิดเสนอแนะข้อสุดท้าย คืออาเซียนจะต้องสร้างความร่วมมือกับสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน จึงต้องเขียนระบุไปเลยว่า ทั้งภาครัฐและองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง