ชาวโรฮิงยาอพยพไปบังคลาเทศ หลังเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ยังไม่คลี่คลาย

ต่างประเทศ
12 มิ.ย. 55
14:52
12
Logo Thai PBS
ชาวโรฮิงยาอพยพไปบังคลาเทศ หลังเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ยังไม่คลี่คลาย

สถานการณ์ในรัฐยะไข่ของพม่า อาจจะดูว่าทหารควบคุมสถานการณ์ได้ แต่วันนี้ (12 มิ.ย.) ยังมีรายงานการเผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงยาอยู่ ขณะเดียวกันก็มีรายงานชาวโรฮิงยากลุ่มใหญ่ พยายามจะหนีความวุ่นวายเข้าไปในบังคลาเทศ แต่ก็ถูกทหารบังคลาเทศผลักดันกลับออกมา ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิต 25 คนแล้ว

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่าชาวโรฮิงยาหลายร้อยคนที่อาศัยในรัฐยะไข่ พรมแดนตะวันตกของพม่า ที่ติดกับประเทศบังคลาเทศ พยายามนั่งเรือข้ามแม่น้ำ เพื่อหนีเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ เข้าไปในบังคลาเทศต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่ก็ถูกทหารบังกลาเทศผลักดันกลับออกมา

ขณะที่สถานการณ์ทั่วไป แม้ว่าทหารจะตรึงกำลังในพื้นที่ ทำให้ความวุ่นวายลดน้อยลง แต่ยังมีความตึงเครียด รวมทั้งยังมีรายงานการเผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงยาเมื่อช่วงเช้าทำให้เจ้าหน้าที่ต้องคุ้มครองชาวโรฮิงยาอพยพไปในที่ปลอดภัย

ส่วนชาวพม่าที่นับถือศาสนาพุทธโดยเฉพาะกลุ่มสตรีและเด็ก ซึ่งยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ พากันไปรวมตัวอยู่ตามวัดและสถานปฏิบัติธรรมเพื่อความปลอดภัย 

เหตุจลาจลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา มีสาเหตุจากความตึงเครียดระหว่างศาสนา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 25 คน บาดเจ็บอีกกว่า 40 คน ทำให้เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.) ทางการต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในรัฐยะไข่

ขณะที่นานาชาติต่างเรียกร้องให้รัฐบาลพม่า เร่งแก้ปัญหารวมทั้งขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้ความอดทน โดยเหตุวุ่นวายทำให้สหประชาชาติ ถอนเจ้าหน้าที่ในยะไข่ พร้อมครอบครัวออกมาเป็นการชั่วคราว แต่ก็มีเสียงท้วงติงจากองค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ ว่าขณะนี้สถานการณ์ในยะไข่ กำลังบานปลายเกินการควบคุม

รวมทั้งเรียกร้องให้มีเจ้าหน้าของนานาชาติคงอยู่ในยะไข่เพื่อจับตาสถานการณ์ แทนที่จะถอนตัวออกมา เพราะมองว่า รัฐบาลอาจถือโอกาสนี้ปกปิดสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น

ขณะที่วันนี้ (12 มิ.ย.) หนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ตีพิมพ์บทความเตือนว่า ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในยะไข่ อาจทำลายความพยายามปรองดองชาติได้ ซึ่งเหมือนเป็นการเน้นย้ำคำกล่าวของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่มีขึ้นเมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.)

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นคนพม่าพุทธที่มีแนวคิดรุนแรงที่ต้องการผลักดันชาวโรฮิงยาออกนอกประเทศ หรือกลุ่มที่ต้องการกดชาวโรฮิงยาให้ยังคงเป็นพลเมืองชั้นสองต่อไป หรือแม้กระทั่งชาวโรฮิงยาเองก็อาจใช้โอกาสนี้ ในการทำให้นานาชาติได้ฉุกคิดถึงปัญหาความเป็นคนไร้รัฐของพวกเขาผ่านความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง