ดนตรี กวี พิธีกรรม เครือญาติวัฒนธรรม
แม้ไม่เคยขึ้นเวทีร่วมกันมาก่อน แต่คณะศิลปินพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ก็สามารถถ่ายทอดการแสดงผ่านท่วงทำนองสนุกของดนตรีกันตรึมได้อย่างคล่องแคล่วพร้อมเพรียง บนเวทีวัฒนธรรมเชื่อมสัมพันธ์ การได้ซักซ้อมเพียง 3 ชั่วโมงก่อนแสดงอาจเป็นช่วงเวลาไม่มากนัก หากท่ารำและจังหวะดนตรีที่คล้ายคลึง ก็ทำให้ "เฮือน ฤทธี" ศิลปินพื้นบ้านจังหวัดอุดรมีชัยวัย 18 ปี เห็นในวัฒนธรรมดนตรีที่มีร่วมกันมา ภาษาถิ่นที่ใกล้เคียงยังช่วยให้สื่อสารกับศิลปินฝั่งไทยได้ไม่ยาก เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำไปพัฒนารูปแบบการแสดงดนตรี-นาฏศิลป์ในพื้นที่ ซึ่งในอุดรมีชัยถือว่าอยู่ระหว่างการฟื้นตัว เนื่องจากเหลือครูเพลงไม่กี่คน เนื่องมาจากผลกระทบจากสงครามเขมรแดงที่เพิ่งสงบได้ 10 กว่าปี
เฮือน ฤทธี ศิลปินพื้นบ้านชาวกัมพูชา กล่าวว่า ยินดีที่ได้ร่วมงานกับเพื่อนบ้านไทยผ่านเวทีวัฒนธรรม เพราะที่ผ่านมาผู้คน 2 ฝั่งถูกตัดขาดเพราะเส้นแบ่งเขตแดน แทบไม่ได้ผูกดองจองไดเป็นเครือญาติ โดยหวังว่าเวทีนี้จะช่วยสร้างความเข้าในอันดีด้านวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ของคน 2 ฝั่งเพื่อให้การค้าขายเยี่ยมเยียนกันทำได้เหมือนก่อน
สอดคล้องกับ ฮง เยือน ประธานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ที่ระบุว่า วัฒนธรรมจากดนตรีและพิธีกรรมพื้นบ้านวันนี้จะช่วยเชื่อมสัมพันธ์ไมตรี และขยายความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของกัมพูชาและไทย ในอดีตและปัจจุบันว่าคล้ายคลึงและผสมผสานกันอย่างไร จนเป็นวัฒนธรรมร่วมที่ยังเห็นได้ทุกวันนี้
สิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าเส้นแบ่งเขตแดนไม่อาจแบ่งแยกผู้คน 2 ฟากฝั่งพนมดองแร็ก หรือ พนมดงรัก จากการได้ คือดนตรีพื้นบ้านและพิธีกรรม นอกจากศิลปินพื้นบ้านไทย-กัมพูชาจะได้ขึ้นเวทีร่วมกันแล้ว ยังได้เห็นสายสัมพันธ์วัฒนธรรมที่มียาวนาน ส่วนการแสดงที่เห็นอยู่บนเวทีขณะนี้ คือเรียกว่าเนสาด สะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้านรอบโตนเลสาปในกัมพูชา
บทเพลงมงกวลจองไดจากคณะกันตรึมระหว่างหมอธรรมสวดบายศรี หรือพิธีสู่ขวัญแบบพื้นบ้าน คุ้นเคยกันดีอยู่ในวิถีผู้คน 2 ฝั่ง แม้ระยะหลังรูปแบบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์นี้ในกัมพูชาจะมีเฉพาะงานสำคัญประจำปี ต่างจากในพื้นที่อีสานใต้ ซึ่งคนเชื้อสายเขมรถิ่นไทย ยังใช้ในงานมงคลต่าง ๆ บทเพลงเจรียง ระบำพัด ระบำสุ่ม หรือแม้แต่ดนตรีกวีของศิลปินไทย-กัมพูชา สับเปลี่ยนกันขึ้นเวที ล้วนบอกเล่าเรื่องราวที่ผู้คน 2 ฝั่งเคยไปมาหาสู่ดังพี่น้อง นอกจากเชื่อมสัมพันธ์ภาคประชาชนของผู้คนในเขตแดนติดต่อกันแล้ว ยังหวังให้นำไปสู่ความเข้าใจที่ดีก่อนก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน
เหมือนกับที่ ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ กวีซีไรต์ ระบุว่า การมาร่วมงานในครั้งนี้ก็ทำให้เห็นการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี หรือ ธีรภาพ โลหิตกุล กรรมการสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา ที่ก็มองว่า การใช้การแสดงทางวัฒนธรรมดนตรี กวี พิธีกรรม เป็นสิ่งที่จะสื่อสารความสัมพันธ์ที่มีและช่วยส่งเสริมความเข้าใจก่อนก้าวสู่ประชาคมอาเซียน