นักวิชาการด้านภัยพิบัติ เผย ปีนี้ไทยยังเสี่ยงน้ำท่วม
ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาภัยพิบัติฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความกังวลว่า แม้ปีนี้ (2555) ปรากฏการณ์ลานิญ่า ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและวิกฤตน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว (2554) จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปีนี้ (2555) แล้ว แต่จากสถิติพบว่า ปีหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ มักจะเกิดพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง และจะก่อให้เกิดเหตุน้ำท่วมในภาคกลางได้อีก ขณะนี้มีพายุเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว 4 ลูก พายุไต้ฝุ่นลูกที่ 3 ชื่อ พายุไต้ฝุ่น "กูโชล" กำลังพัดเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในขณะนี้
ส่วนลูกที่ 4 ชื่อ พายุโซนร้อน "ตาลิม" กำลังก่อตัวขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น คาดว่าจะเคลื่อนตัวไปที่เกาะไต้หวัน ซึ่งจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ส่วนช่วงเวลาที่พายุมักจะพัดเข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศไทย คือ เดือนสิงหาคม หรือ กันยายน ขณะที่ระบบการป้องกันน้ำท่วมในภาคกลางอาจมีปัญหาถ้าถูกพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มโดยตรง
นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร หรือ สสนก. กล่าวว่า ปีนี้ (2555) จะมีการจัดการจราจรน้ำที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว (2554) เพราะมีการใช้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหามากขึ้น แต่สถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มขึ้นในภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว นายรอยลคาดการณ์จากแบบจำลองของสถาบันฯว่า ฝนจะเบาบางลงนับตั้งแต่วันนี้ (19 มิ.ย.) จึงจะยังไม่เกิดน้ำท่วมซ้ำบริเวณจังหวัดแพร่ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก อีกในระยะนี้
ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยในช่วงวันที่ 19- 20 มิ.ย.นี้ ภาคเหนือจะมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหงวัดตาก และ จังหวัดกำแพงเพชร
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ สบอช. ระบุว่า ปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันน้อยกว่าปีที่แล้วเพียงร้อยละ 13 ส่วนน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมดยังเหลือพื้นที่เก็บน้ำได้อีกร้อยละ 53 ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น