ขุดปมปัญหาที่ทำให้คนไทยคิดสั้น
โดย สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
การฆ่าตัวตายเป็นผลมาจากปมปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายในชีวิตของคนเรา ได้แก่ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเจ็บป่วย ปัญหาการทำงาน ปัญหาจากเรียน ตลอดจนความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ความสามารถในแก้คิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา และวิธีการจัดการกับอารมณ์
จากการรวบรวมรายงานสรุปข่าวประจำวันที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายประจำปี 2554 โดยทีมงาน suicidethai.com ภายใต้โครงการช่วยเหลือผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย พบว่า จำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งหมด 296 ราย จำแนกออกเป็นชาย 234 คน หญิง 56 คน และไม่ระบุอีก 6 คนนั้น ปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด ร้อยละ 60.47 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด รองลงมาคือ การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิดเวช (เช่นจิตเภท ซึมเศร้า) ร้อยละ 41.89 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด และมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความรัก หึงหวง และท้องนอกสมรส ร้อยละ 28.04 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด
สำหรับวิธีการฆ่าตายที่เป็นที่นิยมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การใช้ปืน ร้อยละ 18.91 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด รองลงมา คือ ผูกคอตาย ร้อยละ 18.58 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด และกระโดดจากที่สูง ร้อยละ 8.78 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด
ถ้าไม่รวมการฆ่าตัวตายเพราะการเจ็บป่วย จะเห็นได้ว่าสิ่งที่กระตุ้นให้คนไทยฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ การเกิดความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด การผิดหวังในความรัก หรือผิดหวังจากการเรียน ปัญหาเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยยังต้องการการเรียนรู้เกี่ยวกับการรู้จักตนเอง การเข้าใจผู้อื่น และวิธีการจัดการกับความทุกข์กันอีกมาก