เอกชนแนะรัฐเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร รับมือการแข่งขันในตลาดอาเซียนที่สูงขึ้น
เอกชนแนะภาครัฐเร่งพัฒนาเทคโนโลยี ผลักดันศักยภาพการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทย ให้ทันการแข่งขันในตลาดอาเซียนที่สูงขึ้น ขณะที่นักวิชาการบางรายกังวลถึงการส่งออกข้าวของไทย ที่มีคู่แข่งมากขึ้น และในอีก 3 ปีข้างหน้า ประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ในอาเซียน มีนโยบายผลิตข้าวภายในประเทศเพิ่มหวั่นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทย
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมอาหาร ด้านการผลิตเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ภายในงานเสวนาตลาดอาเซียน "พม่า เวียดนาม และอินโด กับการพัฒนา ผลิตภัณฑ์อาหาร และสินค้าเกษตรแปรรูป ให้โดนใจลูกค้า" ของสถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยหอการค้า โดยระบุว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมอาหารของไทย มีศักยภาพการผลิตในอันดับ 8 ของโลก และ ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกและภัยธรรมชาติ รวมถึงแนวโน้มการแข่งขันของประเทศสมาชิกที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวใน 3 ด้าน ได้แก่ ยกระดับความปลอดภัยด้านอาหาร, ส่งเสริมการผลิตภายในประเทศแบบยั่งยืน และส่งออกอาหารให้แก่ตลาดโลกในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารไทย มีศักยภาพการผลิต ร้อยละ 70 ดังนั้นในอนาคต ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการผลิตให้ได้เต็มกำลัง และควรร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อกำหนดใมาตรฐานอาหารเดียวกัน
ทางด้านอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ได้แสดงความเป็นห่วงถึงธุรกิจส่งออกข้าวของไทย เนื่องจากมีคู่แข่งมากขึ้น ได้แก่ กัมพูชา และพม่า จากเดิมมีเพียง เวียดนาม และนอกจากนี้ นโยบายการเพิ่มกำลังการผลิตข้าวของประเทศนำเข้ารายใหญ่ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย หลังปี 2558 หรือหลังการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะยิ่งทำให้อุตสาหกรรมส่งออกข้าวไทยได้รับผลกระทบ รวมถึงจะมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ที่ไม่ใช่ภาษีสูงขึ้นด้วย จึงมีความเสี่ยงว่าประเทศไทยจะส่งออกข้าวได้น้อยลง