ศาลปกครองพิจารณาคดี
ทั้งนี้ เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านคลิตี้ล่าง ได้ยื่นฟ้องคดีปกครองให้ คพ. ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ให้กลับสู่สภาพเดิม และระงับเหตุที่อาจเป็นอันตรายจากพิษตะกั่วที่ปนเปื้อนและสะสมในลำห้วย
และเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในประเด็นต่าง ๆ คือ ประเด็นการฟื้นฟูลำห้วย ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า คพ. ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ล่าช้าเกินสมควร ,ประเด็นการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ พิพากษาว่า คพ. ละเลยหน้าที่ในการเรียกค่าเสียหายที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากมีข้อเท็จจริงชี้ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นต่อทรัพยากรน้ำและดินในบริเวณพิพาทแล้ว เป็นเวลากว่า 10 ปี
ประเด็นการเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่คลิตี้ เป็นเขตควบคุมมลพิษ พิพากษาว่า คพ. "ไม่ละเลยต่อหน้าที่" เพราะแม้อำนาจการประกาศเขตควบคุมมลพิษเป็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ คพ.ก็ได้มีการเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเมื่อ 19 เมษายน 2548
ประเด็นเรื่องการเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากการขจัดมลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากบริษัทมีพิพากษาว่า คพ."ไม่ละเลยต่อหน้าที่" เพราะ คพ.ไม่เคยดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมแทนบริษัทฯ เลย จึงมิได้ละเลยหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว
ประเด็นการชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิดของหน่วยงานรัฐพิพากษาว่า คพ."ละเมิด" โดยละเลยต่อหน้าที่ ที่ไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ และปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูและระงับการปนเปื้อน ล่าช้าเกินสมควร ทั้งนี้ศาลกำหนดที่เดือนละ 350 บาท จำนวน 22 เดือน พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเงินคนละ 8,758 บาท
และประเด็นความเสียหายต่อสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยพิพากษาให้ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีคือ ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 1,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยจนถึงวันยื่นฟ้องเป็นเงินคนละ 25,025 บาท
/