ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นายกฯสั่งกระทรวงเศรษฐกิจรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจ
30 มิ.ย. 55
07:36
9
Logo Thai PBS
นายกฯสั่งกระทรวงเศรษฐกิจรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก

นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมเชิงปฏิบัติการทูตพาณิชย์ทั่วโลก และผู้ประกอบการส่งออก เพื่อวางแผนรับมือวิกฤตหนี้ยุโรป โดยเชื่อว่ายังมีลู่ทางการตลาด และจะชูแผนบูรณาการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก พร้อมเชื่อมั่นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการส่งออกของไทยจะยังคงเป็นไปตามเป้าที่วางไว้

เช้าวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการขับเคลื่อนการส่งออก โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯกว่า 200 คนหน่วยงานภาครัฐเอกชน และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ 65 แห่ง ใน 43 ประเทศ เพื่อหารือรับมือกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าการส่งออกของไทยทั้งทางตรง และทางอ้อม

นายกรัฐมนตรีฝากโจทย์ให้ที่ประชุมให้ดูมาตรการระยะเร่งด่วน เพื่อเตรียมตัวแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่ภาพธุรกิจส่งออกจะต้องมียุทธศาสตร์ในการดำเนินการในระยะยาว และการเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งยังจะต้องปรับวิธีปฏิบัติใหัสอดคล้องกลับสถานการณ์เฉพาะหน้า เพื่อรองรับการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐอาเซียนใน 3 ปีข้างหน้า

พร้อมกันนี้ ยังได้กำชับทูตพาณิชย์สำรวจพื้นที่การค้าการลงทุนในภูมิภาคต่างๆ เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ และเพิ่มศักยภาพด้านรายได้ของไทย ทั้งนี้ มั่นใจว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจยังคงเดินหน้าไปได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการส่งออกที่จะยังคงอยู่ที่ร้อยละ 15

นายกฯรัฐมนตรีพร้อมระบุว่าจะไม่ใช้เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ มาเป็นเหตุผลปรับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หากว่าการส่งออกไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ พร้อมกันนี้ ยังสั่งตั้งคณะทำงานระหว่างรัฐบาล และเอกชน เพื่อจะผลักดันแผนให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน

ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวในรายการนายกฯ ยิ่งลักษณ์พบประชาชน ก่อนเข้าร่วมประชุมว่าประเทศไทยมีความพร้อมสูงมาก ทั้งการกระจายตัวส่งออกสินค้า อุตสาหกรรม ภาคเกษตร ซึ่งแม้เเชื่อว่าวิกฤตยุโรปจะไม่กระทบรุนแรง แต่ต้องเตรียมการไว้ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเงินทุน

ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจไทยยังมีอุปสรรคหลัก 5 ด้าน คือปัญหาการสภาพคล่อง ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาดูแลการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และวัตถุดิบ

แม้ว่าการส่งออกสินค้าใน 10 อันดับแรกของไทย ยังคงขยายตัวดี แต่กังวลปัญหาการนำเข้า และส่งออกอวัตถุดิบจากจีน และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนการค้ากับประเทศสหภาพยุโรปสูง อาจส่งผลกระทบทางอ้อมกับไทย โดยให้นายกรัฐมนตรีสนับสนุนภาคเอกชนในเรื่องเรื่องการวิจัย และระบบการขนส่งลำเลียง หรือโลจิสติกส์ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง