เพื่อไทยเรียกร้อง
สำหรับพยานฝ่ายผู้ร้อง และ ผู้ถูกร้องรวม 20 คน มีทั้งอดีต ส.ส.ร., นักวิชาการ, อดีตประธานรัฐสภา และ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีปฏิกริยาจากพรรคเพื่อไทยที่มุ่งประเด็นไปที่นายอานันท์ ปันยารชุน ให้ถอนตัวออกจากการเป็นพยานผู้ร้อง เพื่อไม้ให้เกิดการตีความเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้น
ศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยรายชื่อพยานผุ้ร้องและ ผู้ถูกร้องรวม 20 ปาก ในการพิจารณาวินิจฉัยรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ส่อไปในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ โดยมีบุคคลทีไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง ทั้งนักวิชาการ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา และ อดีต ส.ส.ร.ในส่วนหนึ่งที่พร้อมเบิกความเป็นพยาน
การที่มีชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นพยานฝ่ายผู้ร้อง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อในฐานะแกนนำ นปช. และ นายจาตุรนท์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย เห็นตรงกันว่าการนำ อดีต ส.ส.ร และ นักวิชาการ รวมถึงนายอานันท์ มาเป็นพยาน เป็นการสร้างความชอบธรรม ให้กับฝ่ายตนเอง และแสดงให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะนำไปสู่เป้าหมายการยุบพรรคการเมืองอีกครั้ง เพื่อล้มรัฐบาล
ส่วน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ฝ่ายกฏหมายพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า นายอานันท์ ถือเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และมีความคิดเห็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางการเมือง ซึ่งฝ่ายผู้ถูกร้องทั้งพรรคเพื่อไทย และ ชาติไทยพัฒนา ก็สามารถที่จะเสนอตัวบุคคลที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีของฝ่ายตัวเอง เพื่อเข้ามาเป็นพยานให้การต่อศาลได้เช่นเดียวกัน ขณะที่โฆษกพรรคเพื่อไทย มองว่าเรื่องนี้นายอานันท์ ควรคิดให้รอบคอบ เนื่องจากจะทำให้ถูกตึความต่อนัยยะซ่อนเร้น ในการเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง
นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงขั้นตอนการไต่สวนของศาลใว่าในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมเพื่อพิจารณากำหนดพยานบุคคลรายใดบ้างที่จะมาไต่สวนต่อหน้าศาลในวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคมนี้ จากพยานทั้ง 20 ปาก โดยพยานทุกคนจะต้องให้การต่อศาลโดยเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาล โดยพยานอาจไม่จำเป็นต้องมาเบิกความต่อศาลได้ รวมถึงกรณีนายอานันท์ หากไม่ประสงค์จะมาให้การในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้อง ก็เป็นสิทธิจะทำได้ โดยศาลอาจให้สืบพยานบุคคลรายอื่นแทน
สำหรับงานทางการเมืองหลังสุด ของนายอานันท์ ปันยารชุน คือการเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูป หรือ คปร. สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นการทำงานควบคู่กับคณะกรรมการคณะปฏิรูปประเทศ ของนายแพทย์ประเวศน์ วะสี ก่อนที่นายอานันท์ จะลาออกก่อนจะมีการเลือกตั้ง 7 วัน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลใหม่ปฏิรูปประเทศตามแนวทางที่ที่วางไว้