2 คริสตจักรร่วมประสานเสียงในวาติกัน เพื่อสร้างความปรองดองของคริสตศาสนิกชน

Logo Thai PBS
2 คริสตจักรร่วมประสานเสียงในวาติกัน เพื่อสร้างความปรองดองของคริสตศาสนิกชน

ความขัดแย้งระหว่าง คริสตจักรในอังกฤษและโรมันคาทอลิก ที่มีมากว่า 500 ปี ผ่อนคลายลงเมื่อทั้งสองคณะร่วมร้องเพลงประสานเสียงด้วยกันเป็นครั้งแรก ในพิธีเฉลิมฉลองนักบุญปีเตอร์ และนักบุญพอล ตามความพยายามของวาติกันในการสร้างความปรองดองของคริสตศาสนิกชนไม่ว่าจะนับถือนิกายใดก็ตาม

บทเพลงมิซซาของคีตกวี ปาเลสตรินา ดังกึกก้องไปทั่วโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในพิธีเฉลิมฉลองนักบุญปีเตอร์ และนักบุญพอลของวาติกัน จากการประสานเสียงร่วมกันเป็นครั้งแรกระหว่างคณะ Sistine Chapel Choir ของวาติกัน และคณะประสานเสียงเด็กชาย Westminster Abbey Choir จากอังกฤษ นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 500 ปีที่คณะนักร้องส่วนพระองค์ของสันตะปาปาร่วมร้องเพลงกับนักร้องภายนอก ทั้งยังเป็นคณะประสานเสียงจากประเทศอังกฤษ ที่แยกตัวจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกไปก่อตั้งนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ของตนเองเมื่อศตวรรษที่ 16

คริสตจักรในอังกฤษถือกำเนิดขึ้นจากความไม่พอใจของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ที่มีต่อวาติกัน เนื่องจากไม่ยอมประกาศให้การอภิเษกสมรสของพระองค์ กับพระนางแคเธอรินแห่งอารากอนเป็นโมฆะ เพื่อพระองค์จะได้เข้าพิธีอีกครั้งกับแอนน์ โบลีน พระมเหสีองค์ที่ 2 จึงมีพระราชโองการให้อังกฤษแยกตัวจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกในปี ค.ศ. 1534 โดยออกพระราชบัญญัติอำนาจสูงสุดทางศาสนา กำหนดให้คริสตจักรแห่งอังกฤษเป็นทั้งแบบคาทอลิกและโปรเตสแตนต์โดยไม่ขึ้นตรงกับวาติกันนับแต่นั้น

ผ่านมา 5 ศตวรรษ ทั้งสองคริสตจักรยังคงมีความขัดแย้งในหลายประเด็น ทั้งเรื่องนักบวชสตรีและทัศนะต่อคนรักเพศเดียวกัน แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ไม่เพียงต้องการลดความขัดแย้งระหว่างสองคริสตจักแต่ยังประทับใจการแสดงของคณะประสานเสียง Westminster Abbey Choir ที่ได้ชมเมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศอังกฤษเมื่อปี2010 จึงรับสั่งให้นำคณะประสานเสียงทั้ง 2 มาแสดงร่วมกันในพิธีสำคัญครั้งนี้

แม้ทั้งสองวงจะแตกต่างกันด้วยวัย และสไตล์การร้อง แต่ โจชัว ซิมโม สมาชิกวัย 12 ปีของ Westminster Abbey Choir กล่าวว่าการแสดงครั้งนี้คือการรวมใจของ 2 คริสตจักรที่มีศรัทธาเดียวกัน โดยไม่นำเอาอุปสรรคด้านความแตกต่างมาเป็นข้อจำกัด ขณะที่ มัสซิโม พาลอมเบลลา ผู้อำนวยการวง Sistine Chapel Choir กล่าวว่าความสำคัญของการแสดงครั้งนี้คือการใช้งานด้านวัฒนธรรมแสดงให้เห็นว่าสังคมจะอยู่กันอย่างปรองดองได้ หากสามารถสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวบนความหลากหลายที่มีอยู่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง