ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญเปิดให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องในคดีการแก้รัฐธรรมนูญเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ วันนี้ ( 3ก.ค.) ฝ่ายผู้ร้องนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ยื่นเรื่องขอเพิ่มพยานอีก 5 ปาก คือ นายจรัส สุวรรณมาลา,นายกิตติศักดิ์ ปรกติ, นายแก้วสรร อติโพธิ , นายฉัตรชัย ภูโคกหวาย และ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ขณะที่นายบวร ยสินธร ขอเพิ่มพยานอีก 1 ปากคือ นายสุรพล ศรีวิทยา โดยทั้งหมดเป็นนักวิชาการที่จะชี้เจตนาของการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างฉบับใหม่
ส่วนฝ่ายผู้ถูกร้องขอเพิ่มอีก 2 ปากคือ นายคณิน บุญสุวรรณ และ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ซึ่งจะชี้แจงเปรียบเทียบกระบวนการที่เกิดขึ้นกับในอดีต ทั้งนี้รวมพยาน 2 ฝ่ายแล้ว เท่ากับว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาว่าจะเบิกความพยานคนใดจากทั้งหมด 27 ปากด้วยกัน แต่นอกจากนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ปฏิเสธการเป็นพยาน หลังถูกอ้างอิงถึงแล้ว วันนี้ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง ชี้แจงผ่านเอกสารข่าวว่าไม่ประสงค์จะเป็นพยาน
สำหรับแนวทางการต่อสู้คดีด้านผู้ถูกร้อง นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภาในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เปิดเผยถึงข้อกำชับที่จะเน้นหลักการชี้แจงข้อเท็จจริงตามกระบวนการ โดยเฉพาะในชั้นการพิจารณารายละเอียดหรือตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย ที่มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย ขณะเดียวกันได้ปฏิเสธที่จะยื่นคำร้องคัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้ระเบียบของศาลจะเปิดโอกาสให้คัดค้านตุลาการที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ได้ก็ตาม
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเรียกร้องทุกฝ่ายยุติการกดดันศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเชื่อมั่นว่าศาลจะชี้แจงเหตุผลให้สังคมเข้าใจได้ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาในรูปแบบใด
ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ในฐานะแกนนำ นปช. เปิดเผยว่า กลุ่ม นปช.จะติดตามกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญที่สำนักงาน โดยไม่มีการเดินทางไปชุมนุมคัดค้านที่ศาลรัฐธรรมนูญ