7 ปี พิสูจน์สุวรรณภูมิ ความพร้อมเป็นสนามบินประจำภูมิภาคอาเซียน?
ทั้งนี้ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ มีรันเวย์ ขนาน 2 เส้น กว้างเส้นละ 60 เมตร ยาว 3,700 เมตร และ 4,000 เมตร ห่างกัน 2,200 เมตร มีทางขับขนานกับทางวิ่งทั้ง 2 เส้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่อากาศยานขาออก และขาเข้าได้พร้อมกัน ทำให้รันเวย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ สามารถรองรับอากาศยานแอร์บัสเอ 380 หรือเครื่องบินที่มีชขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้ได้ แต่การปิดซ่อมรันเวย์ ฝั่งตะวันออก ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้เที่ยวบิน จำนวนหลายเที่ยวบินล่าช้าในระยะนี้
ปัญหาล่าสุดเกิดขึ้นที่รันเวย์ ซึ่งเหลือใช้ได้อยู่ทางเดียวก็คือรันเวย์ฝั่งตะวันตก เพราะเกิดหลุมขนาดกว้าง และยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ลึก 5 เซนติเมตร ทำให้ 11 เที่ยวบินคืนที่ผ่านมาต้องย้ายไปใช้สนามบินอื่นๆ และอีกหลายเที่ยวบินล้่าช้า ซึ่งหากย้อนหลังตรวจสอบโครงการของผิวดินสถานที่ตั้งสนามบินสุวรรณภูมิ เดิมเป็นหนองงูเห่า เป็นหนองน้ำกว่า 20,000 ไร่
นอกจากนี้ ชั้นดินของรันเวย์ ชั้นที่ 1 เคยมีสภาพเป็นดินเลนลึก 14 - 15 ม. ชั้นที่ 2 เป็นชั้นทราย คือ นำทรายจำนวนมากถมทับดินเลน ความหนา 1.5 ม. และชั้นที่ 3 เป็นคอนกรีตแอสฟัลท์หนา 0.33 ม. แต่วางบนฐานซีเมนต์ หนา 0.72 ม. และปูนดินที่อัดแน่น โดยใช้เทคนิคด้านวิศวกรรมดึงน้ำชั้นใต้ดินออก และชั้น 4 คือ ชั้นบนสุดคือเป็นผิวยางมะตอยหนา 0.30-0.50 ม.
นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศกรรมสถาน ตั้งข้อสังเกตว่า ความเสียหายไม่น่าร้ายเเรงถึงขั้นทำให้เกิดการยุบตัวของฐานราก เพราะรันเวย์ประกอบด้วยหลายชั้น แต่ปัญหาเกิดขึ้่นที่ผิวรันเวย์ น่าจะเกิดจากการยุบตัวของผิวยางมะตอยชั้นบน กรณีนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ 6 ปี ทำให้เกิดปัญหารันเวย์ร้าว
นอกจากนั้นโครงการสนามบินแห่งชาติ มูลค่ากว่า แสนล้านบาทแห่งนี้ กลับพบข้อสงสัยและการตรวจสอบทุจริตจำนวนมาก เริ่มต้นตั้งแต่การก่อสร้างคือ ปัญหาการถมทรายไม่ได้มาตรฐาน, เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000, สายพานลำเลียงกระเป๋า, ลานจอดรถ, แท็กซี่เถื่อน, ปัญหาโครงสร้างในอาคาร เช่น ความแออัด และห้องน้ำมีไม่เพียงพอ
หากนับจากต้นปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาผิวรันเวย์ยุบตัวและซ่อมแซมแล้ว 6 ครั้ง ขณะที่อัตราการซ่อมแซมรันเวย์ ของสนามบินสุวรรณภูมิ เฉลี่ยปีละ 200 ครั้ง ซึ่งถือเป็นอัตราปกติ ประกอบกับระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา สนามบินสุวรรณภูมิประกาศ ปิดซ่อมรันเวย์ฝั่งตะวันออกเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. จากนั้นก็เกิดไฟฟ้าขัดข้องทำให้ระบบเรดาห์ หอบังคับการบินใช้การไม่ได้ และรันเวย์ ยุบตัว
มาตรการที่จะให้สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสนามบินประจำภูมิภาคอาเซียน จึงทำให้คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน หรือ AOC ตั้งคำถามถึงความพร้อมและมาตรฐานต่างๆ เพราะ กลุ่มธุรกิจสายการบินเริ่มกังวลใจ บางสายการบินเตรียมเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้น เเละต้องการให้ทางสนามบินสุวรณภูมิชี้เเจง อย่างเร่งด่วน