ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบ"ชมรมผู้สูงอายุอ่อนแอ" เหตุรัฐเมินอุดหนุนงบประมาณ

สังคม
8 ก.ค. 55
04:54
51
Logo Thai PBS
พบ"ชมรมผู้สูงอายุอ่อนแอ" เหตุรัฐเมินอุดหนุนงบประมาณ

วิจัยพบชมรมผู้สูงอายุอ่อนแอขึ้นทะเบียน 23,040 แห่ง แต่ทำงานได้จริงแค่หมื่นเดียวที่เหลือล้มหายไปกว่าครึ่ง

 เหตุขาดการสนับสนุนขาดผู้นำ ขาดงบประมาณต้องทอดผ้าป่าหาเงินทำกิจกรรมกันเองทั้งปี มีรายได้แค่ 1,000-2,000บาท จี้รัฐสนับสนุนงบประมาณ สร้างชมรมให้เข้มแข็งยืดเวลาพึ่งพิงผู้สูงอายุ 

 
โครงสร้างประชากรสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แผนสวัสดิการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังไม่ชัดเจน มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เผยผลการศึกษา เรื่อง “ลักษณะการดำเนินงานและกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ” เพื่อสำรวจการบริหารจัดการของชมรมผู้สูงอายุ กิจกรรมการดำเนินงานปัญหาและอุปสรรคเพื่อให้ชมรมผู้สูงอายุสามารถเป็นที่พึ่งพิงของผู้สูงอายุได้จริงในชุมชน
      
ศ.ศศิพัฒน์  ยอดเพชร นักวิจัยโครงการกล่าวว่า ได้ทำการศึกษาวิจัยสมาชิกชมรมผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนกับสภาผู้สูงอายุจำนวน 23,040 แห่งทั่วประเทศ โดยผลการศึกษาพบว่ายอดชมรมผู้สูงอายุที่มีการดำเนินงานจริงมีเพียง 10,470 แห่ง เนื่องจากการส่งแบบสอบถามและสุ่มสัมภาษณ์ พบว่ามีตัวเลขที่สามารถดำเนินการได้จริงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น
 
  “ยังไม่ฟันธงว่าเหตุผลที่ยอดของจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่ตรงกับข้อมูลของสภาผู้สูงอายุฯ เกิดจากสาเหตุใด ซึ่งอาจจะเกิดจากการจดบันทึกของผู้สูงอายุเองที่มีปัญหาเรื่องการจัดทำข้อมูล หรืออาจเกิดจากการเก็บข้อมูลของสภาผู้สูงอายุฯ ไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องมีศึกษาต่อถึงจำนวนที่ลดลง ว่าเกิดจากเหตุใดกันแน่ที่ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน” ศ.ศศิพัฒน์  กล่าว
 
ผลการวิจัยยังพบอีกว่า ในจำนวนชมรมผู้สูงอายุที่ดำเนินการ พบว่า โครงสร้างชมรมมีชื่อชมรมซ้ำซ้อนกับชมรม, สมาคมอื่น เช่น สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือองค์กรอื่นๆ ในชุมชนทำให้การดำเนินงานทับซ้อนกัน
 
ส่วนลักษณะการก่อตั้งชมรมนั้นเกิดจากแกนนำเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล สถานีอนามัยจำนวน 37.5%   และผู้สูงอายุในชุมชน 34.8%  อปท. อบต. เทศบาล 10% , ผู้ใหญ่บ้าน 4.9% เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม 3.0%  โดยการก่อตั้งกว่า  91 % มีเป้าหมายเพื่อดูแลสุขภาพ และ 80% เพื่อพบปะสังสรรค์ นอกจากนี้ การก่อตั้งชมรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปี 2544-2550
ในส่วนของความสำเร็จของชมรมนั้น ศ.ศศิพัฒน์  กล่าวว่า เกิดจากแกนนำที่เป็นผู้เสียสละ มีเงินทุนในการบริการ สามารถวิเคราะห์ตัวเองได้ตลอดเวลา มีการประชุมสม่ำเสมอ มีความโปร่งใส และมีความสามารถในการแสวงหางบประมาณ
 
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ชมรมผู้สูงอายุไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้หรืออ่อนแอนั้นเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างกรรมการ ความขัดแย้งระหว่างสมาชิกเอง รวมไปถึงขาดงบประมาณ และความโปร่งใสในการดำเนินการ
 
“ความสำเร็จของชมรมผู้สูงอายุขึ้นอยู่กับผู้นำที่เสียสละค่อนข้างมาก รวมไปถึงผู้นำที่มีฐานะพอสมควร ที่จะช่วยดำเนินงานชมรมได้ เพราะจากการวิจัยพบว่าปัญหางบประมาณ เป็นปัญหาหนึ่งของชมรมผู้สูงอายุ”
ศ.ศศิพัฒน์  กล่าวอีกว่า ชมรมผู้สูงอายุบางแห่งจัดหางบประมาณดำเนินการได้เพียง 1,000-2,000บาทต่อปี ทั้งๆ ที่เขาจำเป็นต้องมีงบประมาณในการจัดกิจกรรมจำนวน 10,000-50,000บาทต่อปีซึ่งไม่มากนัก งบประมาณของชมรมผู้สูงอายุไม่ได้ระบบการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งการหางบประมาณส่วนใหญ่มาจากการจัดทอดผ้าป่าและขอสนับสนุนงบดำเนินการเป็นรายโครงการจาก กองทุนผู้สูงอายุ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
 
“อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างชมรมผู้สูงอายุให้เข้มแข็ง เพราะว่าจะเป็นพื้นฐานในการยืดเวลาการพึ่งพิงตนเองของผู้สูงอายุให้ยาวนานได้ เนื่องจากการทำกิจกรรมและการร่วมพบปะพูดคุยทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า”
 
นอกจากนั้น ช่วงที่ผู้สูงอายุมีอายุระหว่าง 60-69 ปี เป็นช่วงที่ยังช่วยตัวเองได้ แต่รัฐขาดการสนับสนุนกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุในวัยนี้ นอกจากเบี้ยยังชีพแต่ละเดือนเท่านั้น ในการดำเนินกิจกรรมจึงอยากให้รัฐ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนสนับสนุนการดำเนินการของชมรมผู้สูงอายุให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อรองรับและยืดเวลาพึ่งพิงของผู้สูงอายุให้ออกไปอีก จะทำให้รัฐลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุลงได้อีกมาก 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง