ภาคีต้านคอร์รัปชั่นจับตาแผนรับมือน้ำ 8 โครงการ
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า รัฐบาลควรชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจน และทางเครือข่ายฯจะจับตาขั้นตอนการจ่ายงบประมาณ โดยเร็วๆนี้จะเรียกประชุมกลุ่มภาคีเครือข่ายฯ เพื่อศึกษาแนวทางการประมูล พร้อมติดตามการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ซึ่งโครงการนี้ รัฐบาลเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาแข่งขันด้วย เนื่องจากต้องการเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ซึ่งบางประเภทไม่มีในไทย แต่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการเปิดเผยรายละเอียดของโครงการในวงแคบ เฉพาะบริษัทที่สนใจร่วมโครงการ
ด้านนายธเนศ วีระศิริ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่าวิธีการประมูลของรัฐบาล เป็นวิธีการตามปกติที่หน่วยงานของรัฐนิยมปฎิบัติ ซึ่งมีทั้งความหลากหลายและวิธีการที่เหมาะสม แต่ควรตั้งคณะกรรมการ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกรัฐบาลมาร่วมคัดเลือก รวมทั้งเปิดเผยวิธีการนำเสนองานต่อสาธารณะ เพื่อตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส
สำหรับขั้นตอนของการประมูลงานที่ระบุว่าอาจใช้วิธีพิเศษ คือ ไม่ใช่การประมูลเปิดซองนั้น นายธเนศ ระบุว่าไม่แน่ใจ ว่าเหมาะสมกับโครงการหรือไม่ ซึ่งรอดูแนวทางของโครงการที่ได้รับการคัดเลือก พร้อมระบุว่าการประมูลโดยใช้วิธีพิเศษ นิยมใช้ในงานที่ต้องการทักษะหรือเทคโนโลยีเฉพาะด้านของผู้รับเหมา ที่เหมาะสมกับโครงการนั้นๆ โดยจะมีการเรียกเข้ามาหารือก่อน
ทั้งนี้รัฐบาลให้บริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ ยื่นขอรับเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและแก้ปัญหาอุทกภัย มูลค่า 300,000 ล้านบาท โดยมีเอกชนทยอยมารับเอกสาร ยอดรวม 2 วันประมาณ 40 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นบริษัทต่างชาติ 3-4 ราย ซึ่งการดำเนินโครงการจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจะเลือกบริษัทที่นำเสนอแนวคิด 14 แผนงาน และช่วงที่ 2 จะประมูลโครงการก่อสร้าง ซึ่งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. เสนอให้ประมูลด้วยวิธีพิเศษ
สำหรับการคัดเลือกบริษัทที่เสนอแนวคิดที่ดีที่สุด เพียง 1 บริษัท คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนธันวาคม หลังเสร็จสิ้นการตรวจสอบคุณสมบัติในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ โดยบริษัทผู้ได้รับเลือกจะได้รับค่าจ้าง 6,000 ล้านบาท