ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมสุขภาพจิต ระบุ สื่อควรเสนอข่าว "ฆ่าตัวตาย" อย่างระวัง ป้องกันการเลียนแบบ

สังคม
11 ก.ค. 55
12:58
19
Logo Thai PBS
กรมสุขภาพจิต ระบุ สื่อควรเสนอข่าว "ฆ่าตัวตาย" อย่างระวัง ป้องกันการเลียนแบบ

กรมสุขภาพจิต เรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายอย่างระมัดระวัง เพื่อปอ้งกันการเลียนแบบ ขณะที่ครอบครัวควรให้การดูแล และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่มีสภาพจิตใจเปราะบาง และเสี่ยงต่อการคิดฆ่าตัวตาย หลังพบว่า 3 ปีที่ผ่านมา วัยรุ่นไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึง สถานการณ์การฆ่าตัวตายทั่วโลกว่า แต่ละปี มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน หรือ เฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 40 วินาที ส่งผลกระทบต่อจิตใจของครอบครัวและผู้คนรอบข้างของผู้เสียชีวิต อีกปีละ 10 ถึง 20 ล้านคน

ขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ระหว่าง 5.97 ถึง 6.03 คนต่อประชากรแสนคน โดยปี 2554 มีผู้ฆ่าตัวตาย 3 พัน 800 คน เฉลี่ยวันละ 12 คน หรือ ชั่วโมงละ 2 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 30 ถึง 39 ปี ขณะที่วัยรุ่นในกลุ่มอายุ 10 ถึง 19 ปี มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น จาก 188 คนในปี 2551 เพิ่มเป็น 203 คนในปี 2552 และ 215 คนในปี 2553

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ยืนยันว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ อัตราการฆ่าตัวตายไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ครอบครัว ก็ควรเอาใจใส่และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้มีปัญหาสุรา ยาเสพติด ผู้ป่วยทางจิต และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้สามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ และบริการสายด่วน 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน ยังเรียกร้อง ให้สื่อมวลชน นำเสนอข่าวอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยง การนำเสนอภาพเหตุการณ์การฆ่าตัวตาย และเนื้อหาที่บ่งบอกถึงขั้นตอนวิธีการฆ่าตัวตาย เพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่มีสภาพจิตใจเปราะบาง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง