"ปลอดประสพ" ติงผู้วิจารณ์ "โครงการจัดการน้ำ" อาจฮั้วการประมูล

การเมือง
12 ก.ค. 55
05:15
18
Logo Thai PBS
"ปลอดประสพ" ติงผู้วิจารณ์ "โครงการจัดการน้ำ" อาจฮั้วการประมูล

โครงการบริหารจัดการน้ำตามแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน งบประมาณ 3 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลไทยเปิดให้เอกชนทั้งไทย และต่างประเทศ ร่วมเสนอแผนตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง(TOR) ที่กำหนด ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงการเปิดโอกาสให้มีการประมูลด้วยวิธีพิเศษ อาจเกิดการฮั้วประมูลได้

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ. ตำหนิผู้วิจารณ์ในเรื่องนี้ว่า วิจารณ์โดยไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง โดยยืนยันทุกขั้นตอนทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส และประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ส่วนการเปิดให้ต่างชาติเสนอแผนงานได้ เพราะต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัยของต่างประเทศ เพราะบริษัทของไทยไม่มี โดยการเปิดรับเอกสาร TOR ช่วง 3 วันที่ผ่านมา มีบริษัทเข้ารับเอกสารแล้ว 90 บริษัท

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เตือนรัฐบาลถึงโครงการที่ขาดรายละเอียดที่ชัดเจนว่า จะสร้างปัญหาตามมาในอนาคต ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย และความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะ หากรัฐบาลจะใช้วิธียกเว้นระเบียบทุกอย่าง เพื่อมุ่งให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการโดยเร็ว ในขณะที่หลายโครงการไม่มีความพร้อม ไม่ผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย โดยเฉพาะการดึงภาคเอกชนต่างประเทศเข้าร่วม อาจจะซ้ำรอยโครงการในอดีตที่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายภายหลัง ซึ่งก็เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ให้มีการเปิดเผยราคากลาง

สำหรับภาคธุรกิจเอกชนก็มีความสนใจ ติดตามประเด็นที่รัฐบาลเปิดให้บริษัทเอกชนร่วมแข่งขัน ซึ่งอาจเกิดการฮั้วประมูลได้ โดยนายพงษ์ศักดิ์ อัศกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เสนอว่า รัฐบาลเปิดเผยข้อมูล เพื่อความโปร่งใส โดยเฉพาะร่างข้อกำหนดคุณสมบัติ พร้อมแนะถึงการประเมินราคากลาง ควรให้นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเป็นผู้กำหนด และควรใช้วิธีประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรืออีออคชั่น ซึ่งเป็นวิธีที่โปร่งใสมากกว่าวิธีการอื่นๆ

ขณะสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เสนอให้ตั้งคณะกรรมผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภายในและนอกหน่วยงานรัฐ เพื่อความโปร่งใสของโครงการ ขณะที่กลุ่มภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เตรียมเรียกประชุมสมาชิก เพื่อติดตามและตรวจสอบแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำเช่นเดียวกัน

สำหรับรายละเอียดโครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ประกอบด้วย 8 โครงการจัดการพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ภายใต้วงเงิน 300,000 ล้านบาท และโครงการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้ โดยมีงบประมาณ 40,000 ล้านบาท

สำหรับ 8 โครงการจัดการพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ประกอบด้วย แผนฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่า และดินรวมถึงฝายแม้ว พื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าในที่สูง ประมาณ 8-10 ล้านไร่ ในพื้นที่ภาคเหนือประมาณ 8 จังหวัด และป่ากลางน้ำในภาคกลางประมาณ 500,000 ไร่ ใน 6 จังหวัด รวมวงเงิน 10,000 ล้านบาท, การสร้างอ่างเก็บน้ำใน 5 ลุ่มแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ป่าสัก รวม 21 แห่ง ใช้เวลา 3 - 5 ปี ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท การจัดผังการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ และ ปิดล้อมเขตชุมชน เขตเศรษฐกิจหลักของจังหวัดที่น้ำท่วมถึง ในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง วงเงิน 50,000 ล้านบาท การปรับปรุงพื้นที่เกษตรเพื่อใช้รับน้ำหลาก 2 ล้านไร่ ในจ.พระนครศรีอยุธยา และจ.นครสวรรค์ จำนวน 60,000 ล้านบาท การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและคันกั้นริมแม่น้ำสายหลัก วงเงิน 7,000 ล้านบาท

การจัดทำฟลัดเวย์ เพื่อรับน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำเจ้าะพระยาและป่าสัก โดยทำพร้อมกับการสร้างทางหลวงระดับประเทศ 120,000 ล้านบาท  การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล การเตือนภัย 3,000 ล้านบาท และ ปรับปรุงองค์กรเพื่อดูแลการจัดการน้ำโดยเฉพาะ ใช้งบประมาณตามปกติ นอกจากนี้ยังมีโครงการลุ่มน้ำในภาคใต้, ตะวันออกเฉียงเหนือ อีก 6 โครงการหลัก วงเงิน 40,000 ล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง