อดีตนายกวิศกรรมสถานฯ เผย
นับตั้งแต่เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนกันยายน 2549 สนามบินแห่งนี้ก็มักจะประสบปัญหาเรื่อยมา ล่าสุดคือ การชำรุดของรันเวย์ ที่ส่งผลกระทบให้เครื่องบินที่จะลงจอด ต้องล่าช้าเป็นจำนวนมาก
รศ.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัญหาการทรุดตัวของรันเวย์ เป็นปัญหาเก่า ตั้งแต่ช่วงแรกที่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดทำการแล้ว ซึ่งปัญหานี้ เมื่อปี 2549 หลายฝ่ายมีความกังวลว่า การทรุดตัวนั้น จะลงไปลึกถึงชั้นทรายที่มีการทุจริตหรือไม่ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ โดยตนเองเป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า การเกิดปัญหาทรุดตัว จะเกิดเพียงพื้นผิวชั้นบน ที่มีลักษณะนิ่มเรียบ คล้ายยางมะตอย และมีพื้นคอนกรีตเป็นชั้นรอง ซึ่งลักษณะของการทรุดตัว จะเหมือนทางเกวียน ส่งผลให้หลายฝ่ายกลัวว่า อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ทั้งนี้ ยังมีพื้นคอนกรีตที่มีแข็งรองรับอยู่
รศ.ต่อตระกูล กล่าวว่า เคยมีการจ้างที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วยทีมไทย และจากประเทศญี่ปุ่น คือ บริษัท เจแปน แอร์พอร์ต คอนเซ้าแทน โดยใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อดูเรื่องของสนามบินโดยเฉพาะ ซึ่งผลการสรุป พบว่า สนามบินสุวรรณภูมิใช้วัสดุทำพื้นผิวผิด โดยแนะนำให้ใช้คอนกรีตทำผิวรันเวย์ทั้งหมด โดยตนเองคิดว่า การซ่อมรันเวย์ 1 ช่อง เป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับการเกิดหลุมยุบนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องที่ควรทำการก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์มากกว่า เพราะหากมีกรวดเพียงก้อนเดียวตกอยู่บริเวณรันเวย์ ก็จะไม่สามารถนำเครื่องลงจอดได้ แต่เมื่อเกิดปัญหา จึงต้องมีการปิดสนามบินฉุกเฉิน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่าจะรับเครื่องบินได้
นอกจากนี้ รศ.ต่อตระกูล กล่าวว่า ทุกองค์กรมีปัญหาด้านเทคนิค แต่ต้องเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ หากรู้ว่า มีการออกแบบผิด จำเป็นต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน อีกส่วนหนึ่งคือการบริหารจัดการ ที่อาจรู้ว่ามีปัญหา แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ โดยที่ตนเองตั้งข้อสังเกตกับกรณีรันเวย์ทรุดตัวว่า องค์กรมีกำไรในการแก้ไขหรือไม่
"ปัญหาใหญ่ คือว่า ไม่มีเงินบริหาร หรือจะมีกำไรได้นั้น สนามบินทั่วโลกอยู่ไม่ได้ด้วยการให้เครื่องบิน ขึ้น-ลงเพียงอย่างเดียว โดยในแต่ละปี สุวรรณภูมิจะได้กำไร ค่อนข้างหวุดหวิด โดยเฉพาะสนามบินเปิดใหม่ กำไรจะอยู่ที่ร้านค้าภายในสนามบิน หรือโรงจอดรถ แต่สุวรรณภูมิให้คนอื่นมาบริหาแทน ส่วนสนามบินก็ดูแลเอง ซึ่งมีค่าบำรุงเยอะมาก ดังนั้นจึงต้องซ่อมไปเรื่อย ๆ ซ่อมอย่างเดียว ดีกว่าจะทำใหม่ เนื่องจากราคาซ่อมนั้นถูกกว่า" รศ.ต่ตระกูลกล่าว
อย่างไรก็ตาม รศ.ต่อตระกูล กล่าวแนะนำว่า ขอให้ฟังฝ่ายเทคนิค โดยหาผู้รู้ เพื่อฟังเหตุและผล ทั้งนี้ ไม่ควรแก้ปัญหาแบบวันต่อวัน เพราะจะทำให้ทั่วโลกไม่ให้ความน่าเชื่อถือ