ศธ.-สธ. มั่นใจโรคมือเท้าปาก ควบคุมได้
ศ.ดร.สุชาติ ธาราดำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีมีการระบาดโรคมือเท้าปากว่า แต่ละโรงเรียนสามารถติดต่อโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตพื้นที่ให้สามารถร่วมกันเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากล่วงหน้าได้เลย โดยหากพบว่าโรงเรียนใดมีการระบาดของโรคดังกล่าว ผู้อำนวยการโรงเรียนจะสามารถใช้ดุลยพินิจตัดสินได้เลยว่าโรงเรียนจะต้องปิดการเรียนการสอนหรือไม่ เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งเป็นนิติบุคคล สามารถสั่งการเองได้ตามความเหมาะสม ทางกระทรวงทำได้เพียงกำกับดูแล และให้การช่วยเหลือ
ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากพบว่าโรงเรียนใดมีการแผ่ระบาดของโรคมือเท้าปาก ทางกระทรวงศึกษาธิการสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือมายังกระทรวงสาธารณสุขได้โดยกระทรวงสาธารณสุขจะจัดทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือในเขตพื้นที่นั้นทันที และกล่าวถึง มติ ครม.ในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ว่า หากเด็กเกิดการเจ็บป่วย ก็จะให้ส่วนต่างๆบูรณาการดูแลร่วมกัน เช่นกับสถานศึกษา ต้องป้องกันทั้งในเชิงรับและเชิ่งรุก เช่นที่ผ่านมาในวันนี้(17 ก.ค.)มีการดำเนินงานที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ซึ่งสามารถทำได้ดีแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนในห้องเรียนก็มีการดูแลรักษาความระบาด
ส่วนความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ หากพบเด็กป่วย สามารถแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขไปดำเนินมาตรการควบคุมโรคได้ทันที แต่อำนาจของการปิดโรงเรียนขึ้นอยู่กับทางกระทรวงศึกษาฯ ทั้งนี้หากพบเด็กผิดปกติสามารถไปพบแพทย์ได้ทันที ผู้ปกครองต้องสังเกตเด็ก หากมีตุ่มใสขึ้นตามมือหรือเท้า ตัวร้อน มีไข้ ต้องพาลูกไปพบแพทย์ แต่ไม่ต้องกังวลว่าอาจจะอันตรายถึงชีวิต เพราะเป็นคนละเชื้อกับที่ระบาดในกัมพูชา
ขณะที่ น.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงพื้นที่สถานการณ์การระบาดน่ากังวล คือ บริเวณภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงราย พะเยา ลำปาง เชียงใหม่ และในโซนแถบอีสานใต้ เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ และภาคตะวันออกบริเวณที่มีฝนตกมาก เช่น ระยอง ตราด จันทบุรี ส่วนภาคใต้ เช่น สตูล สงขลา ยะลาเป็นต้น
อย่างไรก็ตามจำนวนเด็กที่ป่วยเพิ่มขึ้นในอาทิตย์นี้มีจำนวนมาก เนื่องจากโรงเรียนเปิดเทอมและเด็กก็ติดกันที่โรงเรียน ส่วนในการติดตั้งวอร์รูม เพื่อช่วยในการควบคุมโรคจะช่วยได้มาก หากเด็กติดเชื้อเกิน 5 ห้องเรียนก็ควรปิดเรียนทันที
ส่วนเด็กตามแนวชายแดน กรมควบคุมโรคมีด่านตรวจตามตะเข็บชายแดนอยู่แล้ว เช่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว ตราด มีด่านตรวจเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ขวบทุกคน หากมีไข้สูง มีตุ่ม ก็จะไม่ให้เข้าประเทศ จะให้ยารักษาและให้กลับไป และตอนนี้ไม่พบเด็กที่ป่วยและพยายามข้ามประเทศแต่อย่างใด
ทั้งนี้ความเป็นไปได้ที่โรคจะมาจากกัมพูชาจึงน้อย โรคที่ติดหากเป็นที่เชื้อรุนแรง บางคนอาจไม่มีอาการ และจะกังวลเรื่องเชื้อที่รุนแรงมาจากต่างประเทศอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเชื้อที่รุนแรงก็มีอยู่ในภูมิภาคอยู่แล้ว หากพบเด็กมีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 3 วัน มีอาการชัก อย่าประมาท ให้รีบมาพบแพทย์
ส่วนในพื้นที่ กทม. จำนวนคนไข้ที่มาพบแพทย์และเข้าโรงพยาบาล มีสถิติกว่า 2,000 คน แล้ว ขณะนี้ปิดโรงเรียนไปกว่า 10 โรงเรียน ขอให้ประชาชนเห็นว่าการปิดโรงเรียนเป็นสิ่งที่ดี เพื่อเป็นการตัดตอนการแพร่ระบาด อย่ากังวล เพราะหากผู้ป่วยมาพบแพทย์ ก็จะหายแน่นอน