ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตาโครงการจัดซื้อ "แท็บเล็ต" อาจไม่ใช่สัญญา "รัฐ-รัฐ"

18 ก.ค. 55
14:51
45
Logo Thai PBS
จับตาโครงการจัดซื้อ "แท็บเล็ต" อาจไม่ใช่สัญญา "รัฐ-รัฐ"

โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือ แท็บเล็ต ในช่วงแรกเป็นโครงการที่ทางรัฐบาลระบุว่า จะเป็นโครงการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน คือเป็นสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือที่เรียกกันว่า จี ทูจี แรกเริ่มถูกนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อขออนุมัติงบประมาณ 1,937 ล้านบาท แต่ต่อมาภายหลัง โครงการนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจไม่ใช่การทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ

<"">
 
<"">

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 อนุมัติหลักการงบประมาณตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอเรื่องโครงการจัดการเรียนการสอนโดยคอมพิวเตอร์แบบพกพา ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมอนุมัติงบประมาณ 1,937 ล้านบาท ให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้เบิกจ่าย โดยให้เป็นการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งมีความสำคัญ ที่การดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ จะสามารถขอยกเว้นการใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องมีการประกวดราคาแข่งขันเหมือนสัญญาที่รัฐทำกับเอกชน

จากนั้น กระทรวงไอซีที และกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการเจรจากับรัฐบาลจีน แต่จีนยืนยันว่า ไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติในการทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐมาก่อน จึงแนะนำบริษัทเอกชน 4 แห่ง ให้รัฐบาลไทยพิจารณา คือ บริษัทหัวเว่ย บริษัทไห่เอ่อร์ บริษัท ทีซีแอล และบริษัทเซิ่นเจิ้นสโคป ซึ่งทางไทยพิจารณาเลือกบริษัท เซิ่นเจิ้น สโคป ซายเอ็นทิฟิก ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และทำเรื่องไปยังคณะกรรมการว่าด้ารพัสดุ เพื่อขอยกเว้นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ

<"">
 
<"">
 
ในวันที่ 16 มีนาคม คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ประชุมแล้วอนุญาตให้ยกเว้นระเบียบพัสดุได้ เพราะกระทรวงไอซีที อ้างถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดซื้อแท็บเล็ตให้ทันเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคม แต่ยังอ้างถึง รายงานของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เจรจากับรัฐบาลจีน เกี่ยวกับลักษณะของสัญญา จึงควรให้คณะรัฐมนตรีนำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง

ในข้อเท็จจริงที่อ้างถึงรายงานของกระทรวงการต่างประเทศ ปรากฏข้อความว่า รัฐบาลไทยเจรจากับบริษัทเอกชนของจีน และหากจะลงนามกับบริษัทเอกชนของจีน จะต้องผ่านการตรวจแก้ไขสัญญาจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยการทำสัญญา เป็นไปในลักษณะ "ระหว่างส่วนราชการ กับบริษัทเอกชนผู้ขายของจีน" ข้อความนี้ จึงเป็นการระบุว่า สัญญานี้ไม่ใช่สัญญาที่ทำโดยรัฐต่อรัฐ แต่เป็นสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน

ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม หรือถัดมาอีก 4 วัน คณะรัฐมนตรีนำเรื่องเข้าพิจารณาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการจากรัฐต่อรัฐ ไปตามรูปแบบที่เป็นผลจากการเจรจากับฝ่ายจีน ตามที่กระทรวงการต่างประเทศรายงาน และให้กระทรวงไอซีทีจัดทำความตกลงกับบริษัทผู้ขายของจีน ตามกระบวนการ โดยใช้คำว่า "ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง "รัฐบาลไทย" กับ "รัฐบาลจีน" ตามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับจีน ว่าด้วยความร่วมมือในสาขาการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย 22 กุมภาพันธ์ 2554" และนี่จึงเป็นการนำเข้าคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ แต่มีข้อสังเกตว่า ถ้อยคำในมติคณะรัฐมนตรีนี้ ยังอ้างถึงรูปแบบความตกลงระหว่างประเทศ ไม่ชัดเจนว่าเป็นสัญญา ระหว่าง "รัฐ" กับ "เอกชน"

รวมไปถึงหนังสือสัญญา ที่ระบุชัดเจนว่า เป็นความตกลง ระหว่าง กระทรวงไอซีที และบริษัทเซิ่นเจิ้น สโคป ซายเอ็นทิฟิก ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด สำหรับการจัดหาและส่งมองเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 โดยที่ในสัญญายังอ้างถึงบันทึกความเข้าใจ ไทย - จีน ในสาขาการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อปี 2554 อีกด้วย

จากลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ จึงมีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว โดยเห็นได้ชัดว่า กระบวนการทั้งหมดทั้งเป็นไปตามระเบียบราชการ และมีการขอยกเว้นระเบียบราชการบางอย่างเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ และหน่วยงานที่กำลังตรวจสอบโครงการก็ได้ตั้งข้อสังเกตในหลายขั้นตอน ดังนี้

<"">
 
<"">

ประการแรก จะเห็นได้ว่า เดิมทีคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ แต่กระบวนการต่อมาเข้าข่ายทำสัญญาโดยตรงกับบริษัทเอกชนของจีน และขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ โดยอ้างว่า เป็นการทำบันทึกความตกลง ผ่านบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่า อาจจะเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงระเบียบราชการ

ประการต่อมา การคัดเลือกบริษัทเซิ่นเจิ้น เป็นคู่สัญญานั้นเป็นการคัดเลือกผ่านกระบวนการที่ได้รับการยกเว้นระเบียบพัสดุ โดยอ้างว่า เป็น 1 ใน 4 บริษัท ที่ได้รับคำแนะนำจากรัฐบาลจีน ทำให้ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประกวดราคา และไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันจากเอกชนรายอื่น นอกจากรายที่แนะนำมาโดยรัฐบาลจีนเท่านั้น จึงมีข้อสังเกตว่า เป็นการคัดเลือกผู้ขายที่อาจจะไม่เป็นธรรม หรืออาจมองได้ว่า ต้องการบริษัทนี้เป็นคู่สัญญา

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตประการสำคัญคือ ทั้งในมติคณะรัฐมนตรีและในสัญญากับบริษัทเอกชน แม้จะยอมรับว่า เป็นสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน แต่ยังมีถ้อยคำที่อ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่า อาจทำให้สามารถนำมาใช้ตีความได้ว่า เป็นสัญญาระหว่าง รัฐต่อรัฐ หากโครงการมีปัญหาในภายหลัง

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อสังเกตที่บางหน่วยงานกำลังตรวจสอบในขั้นตอนของการขออนุมัติงบประมาณ จัดซื้อจัดจ้าง และทำสัญญาแต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกว่า สัญญานี้ เป็นสัญญาที่รัฐเสียเปรียบหรือไม่

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง