“แมวพุงย้อย” เดินห้อยไปแกว่งมา ให้ความรู้สึกเอ็นดู น่ารัก ตลก แต่รู้หรือไม่ว่า “น้องเหมียว” อาจไม่ได้น้ำหนักเกินจนอ้วนลงพุงก็ได้ แต่เป็นเพราะ “แมว” มีผิวหนังส่วนแกว่งไปมาที่เรียกว่า Primordial Pouch หรือ Cat Belly Flap นั่นเอง โดยเจ้าผิวหนังส่วนที่ว่านี้นอกจากทำให้ดูเหมือน “พุงย้อย” แล้วยังซุกซ่อนถึง 4 ข้อดีด้วยกัน อันช่วยให้ “ขนปุย” มีวิวัฒนาการทางกายภาพที่ดีขึ้นด้วยนะ
Thai PBS Sci & Tech อยากจะบอก “ทาสแมว” ว่า แมวทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย จะทำหมันหรือไม่ ต่างก็มีถุงหน้าท้องย้อย ๆ ดั้งเดิมอยู่แล้ว และถึงแม้ว่าถุงนี้อาจดูใหญ่ขึ้นเมื่อแมวน้ำหนักเกิน แต่ถุงหน้าท้องดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า “แมวอ้วน” แม้แต่แมวตัวใหญ่ เช่น สิงโต ก็มีถุงหน้าท้องนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งแต่ละตัวก็มีขนาดแตกต่างกันไป
โดย “ถุงหน้าท้อง” ของแมวจะก่อตัวขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน และแม้ว่าโรคอ้วน การตั้งครรภ์ รวมถึงการแก่ชราอาจทำให้ลักษณะของถุงหน้าท้องเปลี่ยนไป แต่เราจะรู้ได้ค่อนข้างเร็วว่าแมวเคลื่อนไหวได้คล่องตัวหรือไม่ แต่หากสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในรูปร่างของแมวเมื่อโตเต็มวัย อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้ ดังนั้น ควรพาแมวไปตรวจกับสัตวแพทย์ก่อนที่จะชี้นิ้วรวมถึงหัวเราะแซวแมวของเราว่าอ้วน
4 ประโยชน์ “ถุงหน้าท้องแมว”
1. ช่วยปกป้อง
ถุงหน้าท้องนี้มีชั้นไขมันและเนื้อเยื่อพิเศษช่วยปกป้องอวัยวะสำคัญของแมวจากกรงเล็บอันแหลมคมในระหว่างการต่อสู้หรือการเล่นรุนแรงได้
2. ความยืดหยุ่น
โดยปกติแมวสามารถยืดตัวเพื่อกระโดดได้ไกลประมาณ 5-6 เท่าของความยาวลำตัว ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งผิวหนังส่วนเกินนี้ช่วยให้แมวเดินได้ไกลขึ้น กระโดดได้ไกลขึ้น และสามารถบิดลำตัวเพื่อลงเท้าได้
3. ช่วยเก็บอาหาร
แม้ว่าแมวเลี้ยงจะชอบกินอาหารเพียงเล็กน้อยและบ่อยครั้ง แต่แมวหลายสายพันธุ์ก็ไม่ได้มีวิวัฒนาการทางกายภาพที่ก้าวหน้าไปมากจากสมัยที่ยังเป็นแมวป่าในป่า ดังนั้น แมวอาจกินอาหารมื้อใหญ่เมื่ออาหารมีจำกัด และถุงอาหารเหล่านี้ช่วยให้ท้องของแมวขยายออกเพื่อรองรับอาหารมื้อใหญ่ได้
4. ช่วยควบคุมความร้อน
โดยนักวิทยาศาสตร์บางท่านคาดการณ์ว่าถุงหน้าท้องนี้ช่วยให้อากาศหมุนเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยในการควบคุมอุณหภูมิได้ อย่างไรก็ตาม นี่ยังเป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญยังคงไม่แน่ใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของถุงหน้าท้องแมว
เรื่องที่เข้าใจผิดบ่อย ๆ เกี่ยวกับ “ถุงหน้าท้องแมว”
โดยความเข้าใจผิดที่พบบ่อย ๆ ก็คือ “แมว” ที่ทำหมันเท่านั้นจึงจะมีถุงหน้าท้อง แต่หากเห็นความแตกต่างเป็นอย่างมากในขนาดถุงหน้าท้องก่อนและหลังการทำหมัน แสดงว่า “แมว” อาจมีน้ำหนักเกิน แต่หลังจากทำหมันแล้ว “น้องเหมียว” อาจเบื่ออาหารได้ หากเจ้าของให้อาหารแมวเหมือนเดิมหรือเยอะขึ้น ก็มีแนวโน้มที่แมวจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้ถุงหน้าท้องใหญ่ขึ้นด้วย
ทั้งนี้ แมวที่อายุมากขึ้นจะมีถุงหน้าท้องที่หย่อนคล้อยและยาวขึ้น วิธีที่ดีในการตรวจสอบว่าแมวถุงหน้าท้องขนาดใหญ่หรือแค่ตัวอ้วนก็คือการ “บีบพุงแมว”
ซึ่ง “ถุงน้ำในช่องท้องส่วนต้น” จะมีอยู่เฉพาะบริเวณใต้ท้องเท่านั้น โดยมีลักษณะนุ่ม-ย้วย ในขณะที่ไขมันสะสมจะกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ให้ความรู้สึกแน่นหรือนิ่มเมื่อสัมผัส ดังนั้น ให้ลองเขย่าถุงน้ำในช่องท้องส่วนต้นของแมวของเรา จะได้รู้ว่า “อ้วนลงพุง” หรือเป็นเพราะ “ถุงหน้าท้อง”
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : iflscience
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech