ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบหลักฐานพืชตระกูล “เฟิร์น” ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังภัยพิบัติ


Logo Thai PBS
แชร์

พบหลักฐานพืชตระกูล “เฟิร์น” ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังภัยพิบัติ

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2101

พบหลักฐานพืชตระกูล “เฟิร์น” ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังภัยพิบัติ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“เฟิร์น” พืชชนิดหนึ่งที่เรามักพบได้ทั่วไป แต่เดิมเรามักพบเฟิร์นได้ตามพื้นที่รกร้างหลังจากผ่านพ้น “ภัยพิบัติร้ายแรง” ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด หรืออุกกาบาตพุ่งชน และมักให้มันอยู่ในบริบทของพืชกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาครอบครองพื้นที่ในการอยู่อาศัยจากพืชชนิดอื่นในบริเวณพื้นที่ภัยพิบัติ แต่เมื่อเรามามองในมุมมองของการช่วยเหลือเกื้อกูลของสรรพสิ่งในสิ่งแวดล้อมตามมุมมองใหม่แล้ว บริบทของเฟิร์นนั้นแทบจะเปลี่ยนโดยในทันที

เฟิร์นมักเป็นพืชกลุ่มแรก ๆ ปรากฏขึ้นมาในพื้นที่รกร้างหลังจากผ่านพ้นจากภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด หรืออุกกาบาตที่พุ่งชนพื้นโลก

พืชตระกูลเฟิร์นนั้นสามารถเตริญเติบโตได้ในดินแทบทุกรูปแบบ ราวกับเป็นพืชบุกเบิกพื้นที่ใหม่ของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ภาพถ่ายจาก Richard Leonard

การปรากฏขึ้นมาของเฟิร์นในพื้นที่เหล่านี้ถูกนำมาอธิบายเพื่อสนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการว่าด้วยความเหมาะสมของผู้อยู่รอดอยู่บ่อยครั้งในด้านของการแก่งแย่งพื้นที่กันของสิ่งมีชีวิตประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ ผ่านการกล่าวถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นและเหมาะสมของเฟิร์นในด้านของการใช้สปอร์ในการแพร่พันธุ์ที่ทั้งทนทานและกระจายไปได้อย่างง่ายดายด้วยน้ำและลม ทำให้พืชเฟิร์นบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ๆ ได้ก่อนใคร

แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาวะการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของสรรพสิ่งในสิ่งแวดล้อม (Mutualism) เป็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการอธิบายปรากฏการณ์ของสิ่งต่าง ๆ ในระบบนิเวศในมุมมองที่ไม่ได้ยึดเพียงแต่กรอบการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่มองในมุมของการช่วยเหลือและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันของสิ่งมีชีวิตประเภทต่าง ๆ ทั้งพืชและสัตว์ เช่น การที่วอมแบต (Wombat) ให้สัตว์อื่น ๆ เข้ามาอยู่อาศัยในโพรงของมันในช่วงไฟป่า หรือการที่พืชต่าง ๆ ในป่าคอยแบ่งปันสารอาหารให้แก่กันและกันผ่านทางโครงข่ายไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) ที่อยู่ตามรากพืช ซึ่งเฟิร์นก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นโจทย์ในการศึกษาผ่านทางมุมมองนี้แทนกรอบด้านการแข่งขันในการขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเดิม

fern

คณะนักวิทยาศาสตร์ซึ่งนำโดย Lauren Azevedo Schmidt จาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส (University of California, Davis) ซึ่งได้รับทุนวิจัยจาก NASA ได้ศึกษาเฟิร์นผ่านทางการสังเกตปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันและการศึกษาผ่านทางฟอสซิล มุมมองที่เฟิร์นเป็นพืชที่ช่วยเหลือและเกื้อหนุนในพื้นที่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนมีพื้นที่ที่เหมาะสมกับชีวิตอื่น ๆ แทนที่จะเป็นเพียงผู้แข่งขันที่มาก่อนคนอื่นเหมือนที่ใช้อธิบายกันมาในอดีต

พวกเขาเสนอว่า แทนที่เฟิร์นจะเป็นผู้แข่งขันกับสิ่งมีชีวิตอื่น เฟิร์นจะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในการฟื้นตัวของระบบนิเวศโดยการปรับปรุงหน้าดินให้มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่น ลดการพังทลายของหน้าดิน และไกล่เกลี่ยการแข่งขันระหว่างพืชชนิดอื่น ๆ ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้ทางคณะวิจัยได้ให้เฟิร์นอยู่ในบริบทของ "ผู้เอื้ออำนวย" (Facilitator) ที่สร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และหลีกทางให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

ภาพถ่ายการขุดสำรวจฟอสซิลของเฟิร์นในพื้นที่ New Mexico เหนือเส้นแบ่ง ครีเทเชียส พาลีโอจีน

ซึ่งหนึ่งในหลักฐานที่สนับสนุนคือการที่เฟิร์นเป็นพืชกลุ่มแรก ๆ ที่ปรากฏขึ้นในหลักฐานจากฟอสซิลในชั้นหินที่อยู่เหนือชั้นเส้นแบ่งครีเทเชียส–พาลีโอจีน K-Pg (Cretaceous–Paleogene) และเฟิร์นเองก็เป็นพืชที่อยู่บนโลกใบนี้มานานกว่า 360 ล้านปีแล้ว หมายความว่าตัวเฟิร์นเองก็ย่อมต้องผ่านสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายในช่วงเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มานักต่อนัก การที่เฟิร์นอยู่รอดมาจากทุกช่วงเวลาที่เลวร้ายตลอด 360 ล้านปีก็คือบทพิสูจน์ของเฟิร์นในฐานะของพืชที่บุกเบิกและเอื้ออำนวยพืชชนิดต่าง ๆ ให้เจริญเติบโตและสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้การวิจัยในด้านของชีววิทยาดาราศาสตร์หันมาสนใจเฟิร์นในบริบทของพืชที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกในอวกาศเพื่อเตรียมดินให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นภายในสถานีอวกาศในวงโคจร บนดวงจันทร์หรือดาวอังคารก็ตามในอนาคต เพราะเฟิร์นมีคุณสมบัติที่ทนทานต่อดินที่มีสภาพที่ไม่พร้อมและสามารถแปรเปลี่ยนดินของดวงจันทร์และดาวอังคารให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกอื่น ๆ ภายใต้สภาวะที่รุนแรงในอวกาศ

เป้าหมายอันไกลโพ้นของมนุษยชาติ หลาย ๆ ครั้งก็ต้องเริ่มจากการสังเกตเห็นความมหัศจรรย์ของสิ่งธรรมดาบนโลก

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

พืชตระกูลเฟิร์นเฟิร์นสิ่งแวดล้อมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภัยพิบัติภัยพิบัติร้ายแรงไฟป่าภูเขาไฟระเบิดอุกกาบาตอุกกาบาตพุ่งชนวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด