รู้จัก “ดินโคลน” และอันตรายที่เกิดขึ้นจากโคลน


Thai PBS Care

16 ก.ย. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก “ดินโคลน” และอันตรายที่เกิดขึ้นจากโคลน

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1603

รู้จัก “ดินโคลน” และอันตรายที่เกิดขึ้นจากโคลน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เหตุการณ์อุทกภัยที่เชียงรายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินไม่น้อย และหลังน้ำลด อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา นั่นคือ โคลน!

เหล่าบรรดาโคลน ที่ถูกพัดพามากับกระแสน้ำ ยิ่งน้ำท่วมใหญ่ โคลนยิ่งมีจำนวนมาก เป็นปัญหาซ้ำในซ้ำ ที่ไม่ส่งผลดีกับร่างกายของเรานัก ดังนั้น มาเรียนรู้วิธีจัดการกับ “โคลน” เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกันดีกว่า…

โคลน คืออะไร ?

โคลน คือ มวลตะกอนที่ยังไม่แห้งและแข็งตัว ประกอบด้วยดินและทราย ปนอยู่กับสารอื่น ๆ ที่มีขนาดเท่าเม็ดทราย สาเหตุที่ทำให้เกิดโคลน มักมากับสภาพน้ำท่วม โดยเฉพาะน้ำป่าที่ไหลหลาก มักพัดเอาโคลนจากบริเวณภูเขา ไหลมาพร้อมกับน้ำด้วยนั่นเอง

อันตรายจากโคลนถล่ม หรือ ดินถล่ม 

อันตรายอย่างหนึ่งที่เกิดจากภาวะฝนตกหนัก นั่นคือ เกิดดินถล่ม หรือโคลนถล่ม มักเกิดหลังจากฝนตกหนักหรือหลังน้ำป่าไหลหลาก สัญญาณบอกเหตุว่าอาจเกิดโคลนถล่ม ได้แก่

  • ฝนตกหนักมากเกิน 100 ม.ม./วัน
  • ระดับน้ำในห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีของดินภูเขา
  • มีกิ่งไม้และท่อนไม้ไหลมากับน้ำ
  • เกิดรอยแตกบนถนนหรือพื้นดินอย่างรวดเร็ว

“โคลน” ไม่ใช่แค่ทำลาย แต่ยังตามมาด้วย “โรคภัย”

แม้จะมีผู้นำโคลนบางชนิด มาใช้เพื่อประทินโฉมความงาม แต่สำหรับโคลนที่มีทั้งดิน กรวด ทราย มักนำพาเอาเชื้อโรคผสมมาด้วย จึงไม่ควรสัมผัส หรือนำเข้าสู่ร่างกาย เพราะจะทำให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ดังนี้

  1. โรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “เบอโคโดเลีย สูโดมาลิอาย (Burkholderia pseudomallei)” ซึ่งพบทั้งในดิน น้ำ และในพืชบางชนิด จึงสามารถติดเชื้อได้จากการลุยโคลนหรือลุยน้ำ หากติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง และอาจพบฝีได้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  2. โรคฉี่หนู หรือ เล็ปโตสไปโรซิส สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเล็บโตสไปรา ที่อาศัยอยู่ในอวัยวะของสัตว์ เช่น หนู สุนัข โค กระบือ สุกร แพะ แกะ มูลของสัตว์เหล่านี้ ปะปนอยู่ตามพื้นดินหรือถนน เมื่อฝนตกลงมา ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดไข้ ปวดเกร็งตามขา เบื่ออาหาร เยื่อบุตาอักเสบ และหากติดเชื้อในกระแสเลือด เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  3. โรคตัวอ่อนพยาธิไชผิวหนัง โดยตัวอ่อนพยาธิอาศัยอยู่ในดิน ส่วนใหญ่เป็นพยาธิปากขอ จะไชเข้าไปทางผิวหนัง ผ่านทางรอยแผลหรือรูขุมขนในผิวหนังชั้นนอก หรือชั้นหนังกำพร้า เกิดผื่นเส้นนูนแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตามทางที่ตัวอ่อนพยาธิไชผ่าน ซึ่งทำให้มีอาการคัน และอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
  4. โรคผิวหนัง เชื้อโรคที่มากับดินและน้ำ มักส่งผลให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง ยิ่งหากมีแผลที่เชื้อโรคสามารถผ่านเข้าไปได้ ยิ่งทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการมีแผลอักเสบและติดเชื้อ

วิธีจัดการทำสงครามกับ “โคลน” 

การทำความสะอาด หรือจัดการกับโคลน ต้องทำตอนที่โคลนยังไม่แห้งสนิท เนื่องจากเมื่อดินโคลนแห้งและจับตัวแข็ง จะยิ่งกำจัดออกได้ยาก วิธีจัดการกับโคลน หลังน้ำท่วม ทำได้ดังนี้

  • ขนสิ่งของทุกอย่างออกจากบ้าน พึงระวังสัตว์มีพิษที่ซุกซ่อนอยู่ตามข้าวของ เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย
  • สำรองน้ำใส่ถังขนาดใหญ่ หรือหากมีเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง จะทุ่นแรงและประหยัดเวลาไปได้มาก
  • รองเท้าบูตเป็นอุปกรณ์จำเป็น เพื่อกันพื้นลื่น รวมทั้งป้องกันสัตว์มีพิษ และเศษสิ่งแปลปลอมที่อาจทำให้เกิดแผลแก่ร่างกายได้
  • กรณีที่โคลนสูงระดับแข้งหรือเอว ไม่ควรใช้จอบตักดิน ให้หารถดับเพลิงหรือรถน้ำขนาดใหญ่ เอาน้ำฉีดให้เหลวแล้วไล่โคลนออกจากบ้าน แต่ระดับพื้นดินนอกบ้านต้องต่ำกว่าบ้าน และทำทางน้ำให้น้ำไหลออกได้สะดวก
  • เมื่อล้างบ้านสะอาดแล้ว ต้องล้างสิ่งของที่จะขนเข้ามาไว้ในบ้านให้สะอาดก่อนขนเข้าบ้าน

อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการกำจัด “โคลน”

  1. รองเท้าบูต
  2. ไม้รีดน้ำ
  3. พลั่ว จอบ
  4. ถังใส่น้ำขนาด 60 ลิตรขึ้นไป
  5. ถุงมือ
  6. กระสอบพลาสติกใส่ขยะน้ำท่วม

การดูแลทำความสะอาดบ้าน เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อน้ำลดแล้ว ต้องช่วยกันจัดการกับสิ่งไม่พึงประสงค์ เพื่อความปลอดภัยของของสมาชิกในบ้านทุกคน

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

น้ำท่วมน้ำท่วมเชียงรายดินโคลน
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด