นับตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ Anti Online Scam Operation Center หรือ AOC ปัจจุบันถือว่าการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อป้องกันอาชญากรรมดังกล่าว ผ่านระยะเวลามาแล้ว 1 ปี ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แถลงข่าวผลการดำเนินงานตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปี (1 พ.ย.66- 14 พ.ย.67) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่า ตลอด 1 ปี มีผู้โทรเข้าสายด่วน 1441 ถึง 1,176,512 สาย ส่วนปีหน้าเตรียมแก้ไข พ.ร.ก.เพื่อให้การคืนเงินให้กับผู้เสียหายทำได้ง่ายขึ้น
1 ปี ศูนย์ AOC พบสถิติหลอกออนไลน์ลดลง
นาย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ระบุว่า จากการดำเนินงานของศูนย์ AOC ที่ผ่านมา ทำให้ได้รับข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผน วิเคราะห์ และกำหนดนโยบายหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ได้อย่างตรงจุด โดยจากข้อมูลสถิติการปฏิบัติงานของศูนย์ AOC ที่รวบรวมตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 31 ตุลาคม 2567 พบว่า สถิติการแจ้งความคดีออนไลน์ มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเดือน ส.ค. และ ก.ย. 2567 ที่มีการแจ้งความคดีออนไลน์ 32,266 และ 29,579 คดี ซึ่งลดลงจากช่วง พ.ค – ก.ค 67 ที่มีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 35,000 คดี ต่อเดือน
ส่วนสถิติการแจ้งเหตุและผลการดำเนินงานของศูนย์ AOC ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 - ตุลาคม 2567 ศูนย์ AOC มีจำนวนการโทรเข้า 1441 ทั้งหมด 1,176,512 สาย และจำนวนการระงับบัญชีที่ต้องสงสัยอยู่ที่ 348,006 เคส ซึ่งแสดงถึงปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ที่รุนแรงและขยายวงกว้าง โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 19,000 ล้านบาท
ด้านช่องทางการหลอกลวงที่พบมากที่สุด พบว่าเป็นช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook จำนวน 26,804 เคส คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 718 ล้านบาท ตามมาด้วย Call Center มี 22,299 เคส มีมูลค่าความเสียหาย 945 ล้านบาท รวมทั้งช่องทาง เว็บไซต์ (16,510 เคส , 1,148 ล้านบาท) , TikTok (994 เคส , 65 ล้านบาท) และช่องทางอื่น ๆ (20,518 เคส , 1,262 ล้านบาท)
สำหรับการดำเนินการในปีหน้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เตรียมจัดทำแอพพลิเคชันเตือนภัยให้กับประชาชน โดยจะมีการจัดทำแอพพลิเคชั่นเตือนภัยที่ชื่อว่า Defence ในการเตือนภัยประชาชนถึงบุคคลต้องสงสัยที่อาจจะเป็นมิจฉาชีพ ที่โทรเข้ามาในโทรศัพท์ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในต้นปี 2568
ขณะที่การแก้ไข พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในปี 2568 จะมีการแก้ไขดังต่อไปนี้
1.จะมีการแก้ไขการคืนเงินให้กับผู้เสียหาย
2.จะมีการออกมาตรการจัดการเกี่ยวกับเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี
3.การเพิ่มโทษสำหรับการซื้อขายข้อมูล
4.ความรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์ การดำเนินการของกิจการโทรคมนาคม ที่จะมีความรับผิดชอบต่อแพลตฟอร์ม ซึ่งจะกำหนดการมีส่วนในการแสดงความรับผิดชอบกรณีที่เกิดความเสียหายต่อประชาชน
จัดการ บัญชีม้า-ซิมม้า ส่งผลความเสียหายลดลงร้อยละ 40
ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เปิดเผยว่า ตลอด 1 ปีนับตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ AOC ได้มีการดำเนินการในการจัดการกับบัญชีม้า ซิมม้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดอุปสรรคในการจัดการกับปัญหาบัญชีม้าในอดีต
ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่า กระบวนการร้องทุกข์ผ่านศูนย์ AOC ผ่านสายด่วน 1441 มีไม่ต่ำกว่า 300,000 สาย โดยขณะนี้พบว่า ตัวเลขความเสียหายลดลงประมาณร้อยละ 40 จากเดิมที่ความเสียหายอยู่ประมาณ 100 ล้านบาท ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 60 ล้านบาท ส่วนการร้องทุกข์หรือความเสียหายจากการร้องทุกข์ ลดลงมาราวร้อยละ 10 ด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการในเรื่องของการป้องกันการเปิดบัญชีม้า ผ่านการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งศูนย์ AOC ได้มีการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ตรวจสอบกรณีที่มีผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า หรือพบความเชื่อมโยงในการเปิดบริษัทกับคนกลุ่มนี้ จะต้องมีการชะลอเพื่อตรวจสอบ
เพิ่มมารตรการป้องกันธุรกรรมทางการเงินส่งผล
ขณะที่ นางสาว ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า นับตั้งแต่การเพิ่มความปลอดภัยของโมบายแบงก์กิ้งตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการต่าง ๆ ให้สถาบันการเงินภายใต้การกำกับของแบงค์ชาติ ได้มีมาตรการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยมาตรการในระยะแรก ได้แก่
- การยกเลิกการส่ง SMS ให้กับผู้ใช้บริการ
- 1 คน 1 บัญชี โมบายแบงก์กิ้ง ต่อ 1 เครื่อง
- การสแกนหน้าก่อนการทำธุรกรรมทางการเงิน
มาตรการต่าง ๆ สามารถที่จัดการภัยจากแอปพลิเคชันดูดเงินได้เป็นอย่างดี โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย รวบรวมข้อมูลจากสถาบันการเงิน 17 แห่ง พบว่า กรณีที่เกิดจากแอปพลิเคชันดูดเงินที่เจ้าของไม่ได้ทำรายการด้วยตนเอง ที่เคยอยู่ที่ 3,000 กรณี ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 100 กรณีเพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตามพบว่า ช่วงต้นปี 2566 ตัวเลขของกรณีการถูกดูดเงินจากแอปพลิเคชันที่เจ้าของไม่ได้ทำรายการด้วยตนเอง มีตัวเลขกลับมาเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มมิจฉาชีพได้มีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวง ทั้งการควบคุมโทรศัพท์จากระยะไกล , การใช้ accessibility mode หรือ โหมดช่วยเหลือสำหรับผู้พิการ , การใช้ screen overlay และการแก้ไขแอปพลิเคชันของธนาคาร และหลอกให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเข้าไปใหม่ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้พัฒนามาตรการป้องกันการหลอกลวงต่าง ๆ เหล่านี้ออกมาทันที และพบว่าสถิติของการหลอกลวงได้กลับมาลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ได้มีการออกมาตรการในระยะที่ 2 โดยมุ่งเน้นการจัดการกับบัญชีม้า โดยเฉพาะบัญชีม้าแถวที่ 1 แถวที่ 2 ที่หากพบรายชื่อก็จะมีการระงับชื่อของบัญชีนั้น ให้ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงิน หรือเปิดบัญชีกับธนาคารต่าง ๆ ส่วนบัญชีต้องสงสัยที่เปิดใหม่และมีเงินเข้าต่อเนื่อง แต่ไม่มีเงินออกก็จะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดด้วยเช่นเดียวกัน โดยจนถึงขณะนี้จัดการกับบัญชีม้าดำ ตั้งแต่ มี.ค. 2565 - ต.ค. 2567 ไปแล้วถึง 60,000 รายชื่อ รวม 600,000 บัญชี ส่วนบัญชีม้าเทา ตั้งแต่ ม.ค. 2567 - ต.ค. 2567 จัดการกับบัญชีไปแล้วถึง 50,000 รายชื่อ 500,000 บัญชี และบัญชีม้าน้ำตาล คือบัญชีที่แต่ละธนาคารจัดการโดยไม่ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกัน มีจำนวน 360,000 บัญชี