ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Int-Ball หุ่นยนต์ทรงกลมน่ารักในสถานีอวกาศนานาชาติของญี่ปุ่น


Logo Thai PBS
แชร์

Int-Ball หุ่นยนต์ทรงกลมน่ารักในสถานีอวกาศนานาชาติของญี่ปุ่น

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1899

Int-Ball หุ่นยนต์ทรงกลมน่ารักในสถานีอวกาศนานาชาติของญี่ปุ่น
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หุ่นยนต์ลูกบอลกลมดวงตาสีฟ้าสดใส หน้าตาน่ารัก ลอยไปลอยมากลางสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) คือหนึ่งในหุ่นยนต์ช่วยเหลืองานของนักบินอวกาศญี่ปุ่นภายในสถานีอวกาศนานาชาติ หุ่นยนต์ลูกบอลที่ชื่อว่า Int-Ball นี้สำคัญอย่างไร และทำไมญี่ปุ่นถึงเลือกส่งหุ่นยนต์หน้าตาน่ารักนี้ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

ภาพถ่ายของ Int-Ball ในสถานีอวกาศนานาชาติ

งานภายในสถานีอวกาศนานาชาตินั้นค่อนข้างยุ่งมากตลอดเวลา นักบินอวกาศมีงานต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่งานง่าย ๆ อย่างการรดน้ำต้นไม้ไปจนถึงงานที่ยุ่งยากอย่างการทำการทดลองที่ถูกส่งขึ้นมาจากนักวิจัยบนพื้นโลก ปริมาณงานที่เยอะภายในสถานีอวกาศทำให้หลาย ๆ ชาติพันธมิตรเล็งเห็นถึงวิธีในการลดภาระงานให้กับนักบินอวกาศ หนึ่งในนั้นคือนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเหลืองานภายในสถานีอวกาศ

ภาพถ่ายเปรียบเทียบขนาดของ Int-Ball กับ Int-Ball 2 ภาพถ่ายโดย Jirasin Aswakool

JEM Internal Ball Camera หรือที่รู้จักกันในชื่อ Int-Ball หุ่นยนต์ลูกบอลขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนตัวเองด้วยพัดลม เป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดย JAXA หน่วยงานอวกาศของญี่ปุ่น Int-Ball เป็นหุ่นยนต์สำหรับการช่วยเหลืองานถ่ายภาพหรือติดตามการทดลองของนักบินอวกาศ ตัวหุ่นยนต์จะมีกล้องถ่ายภาพ สามารถเคลื่อนที่ไปมาภายในสถานีอวกาศนานาชาติด้วยพัดลมที่อยู่รอบตัวมันทั้ง 12 ตัว มีน้ำหนักเพียง 1 กิโลกรัม และสามารถเคลื่อนที่กลับไปยังแท่นชาร์จด้วยตัวเองได้

หุ่นยนต์ Int-Ball ถูกส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อปี 2017 โดยยาน Dragon ภารกิจ CRS-11 ทำหน้าที่อยู่ภายในโมดูล Kibo โมดูลของฝั่งญี่ปุ่น มันจะถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่จากทางภาคพื้นที่ JAXA Tsukuba ควบคุมมันไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ภายในโมดูล Kibo เพื่อติดตามนักบินอวกาศและช่วยเหลือถ่ายภาพติดตามผลการทดลอง

ภาพถ่ายของนักบินอวกาศ Peggy Whitson กำลังโบกมือมีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ Int-Ball ในสถานีอวกาศนานาชาติ

ปัญหาการทรงตัวและขับดันของ Int-Ball ทำให้ทาง JAXA พัฒนา Int-Ball 2 หุ่นยนต์ Int-Ball หน้าตาคล้ายกับตัวแรกเพียงแต่ตัว Int-Ball 2 มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าตัวแรก พร้อมกับแบตเตอรี่และพัดลมที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวแรกเพื่อที่ตัวหุ่นยนต์จะสามารถเคลื่อนที่และเดินทางไปมาบนสถานีอวกาศนานาชาติได้สะดวกมากยิ่งขึ้น มาพร้อมกับกล้องถ่ายภาพรอบตัว ซึ่งตัว Int-Ball 2 ถูกส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อมิถุนายน 2023 โดยยาน Dragon CRS-28 และยังคงปฏิบัติงานอยู่ในสถานีอวกาศ

หลังจาก Int-Ball ถูกส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติและได้รับผลการตอบรับที่ดี ชาติอื่น ๆ ก็ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเหลืองานของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน อย่างสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาหุ่นยนต์ ASTROBEE หุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยพัดลมและช่วยเหลือนักบินอวกาศถ่ายภาพ หรือ CIMON หุ่นยนต์ช่วยเหลือนักบินอวกาศทรงกลมที่พัฒนาโดย Airbus และ IBM ที่ได้เงินสนับสนุนโดย German Aerospace Center

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Int-Ballหุ่นยนต์ลูกบอลหุ่นยนต์สถานีอวกาศนานาชาติISSสถานีอวกาศญี่ปุ่นJAXAองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด