“ผมหงอก” พูดเบา ๆ ก็อาจสะเทือนใจคนที่กำลังเผชิญปัญหานี้หลายคน แม้ไม่ใช่วาระแห่งชาติ แต่ก็ส่งผลต่อความมั่นใจและบุคลิกภาพ แม้เป็นเรื่องค่อนข้างปกติ ที่เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ผมจะขาวขึ้นก็ตาม กลายเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เมื่อเกิด “ผมหงอก” แล้วผมของเราจะสามารถกลับคืนเป็น “ผมดำ” ได้ไหม ?
อธิบายสาเหตุการเกิด “ผมหงอก” แบบกะทัดรัดให้เข้าใจง่าย ๆ ก่อนว่า เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิต “เม็ดสีเมลานิน” ได้ (เม็ดสีเมลานิน คือเม็ดสีที่สร้างจากเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ : melanocyte) โดยจะมีการเสื่อมสภาพทั้งจากช่วงอายุ โรค หรือสภาวะโรคที่เป็นอยู่ สำหรับเรื่องนี้ นายแพทย์พูลเกียรติ สุชนวณิช หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า หากสาเหตุมาจากการเป็นโรค เช่น เบาหวาน โลหิตจาง ต่อมไทรอยด์ หรือด่างขาว เมื่อรักษาโรคหายแล้ว ผมหงอกก็จะกลับมาผมดำได้
แต่หากเป็น “ผมหงอก” จากสาเหตุอื่น เช่น กรรมพันธุ์ อายุ รวมไปถึงความเครียด “Martin Picard” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์พฤติกรรม ณ Robert N. Butler Columbia Aging Center มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ความรู้ว่า อาจเป็นเรื่องยากที่จะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้
ด้าน Dr. Antonella Tosti ศาสตราจารย์ด้านผิวหนังและศัลยกรรมผิวหนัง มหาวิทยาลัยไมอามี ประเทศสหรัฐฯ เผยว่า ความเครียดจากออกซิเดชัน (ความไม่สมดุลของอนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายของเซลล์) เช่น การสูบบุหรี่ มลภาวะต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงของการมีผมหงอก ขณะที่อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง สามารถลดผลกระทบของการแก่ก่อนวัยได้ โดยช่วยลดความเสียหายของเซลล์และดีเอ็นเอที่เกิดจากอนุมูลอิสระซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในร่างกายของเรา
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การลดความเครียดส่วนบุคคลและจากสิ่งแวดล้อม ยังคงไม่สามารถป้องกันผมหงอกได้ทั้งหมด โดยทั่วไปผู้คนเกิน 50% จะเริ่มมีผมหงอกเมื่ออายุประมาณ 50 ปี แต่สำหรับผู้ที่มีผมหงอกก่อนวัยอันควร “พันธุกรรม” อาจมีบทบาทมากกว่า “ความเครียด”
Dr. Joshua Zeichner แพทย์ผิวหนัง โรงพยาบาล Mount Sinai สหรัฐฯ กล่าวว่า หากมีประวัติครอบครัวที่มีผมหงอกก่อนวัย ก็มีแนวโน้มที่จะมีผมหงอกก่อนวัยเช่นกัน นอกจากนี้ ตนเองไม่เคยเห็นคนที่เกิดผมหงอกแล้วกลับมาเป็นปกติ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า “รูขุมขน” มีการเปลี่ยนแปลงถาวร โดย ณ ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาหรือวิธีแก้ไข “ผมหงอก” ที่ได้ผลอย่างสมบูรณ์ หากต้องการผมดำด้วยการย้อมสีผม ควรศึกษาอย่างละเอียดถึงวิธีการที่ปลอดภัย ห่างไกลสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อตัวเรา
เรื่องน่ารู้ “ย้อมสีผม” บ่อย ๆ ระวังสารเคมีอันตรายต่อสุขภาพ หากไม่ระวังให้ดี
ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ผลิตภัณฑ์ยาย้อมผม เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน มีจำหน่ายทั่วไป สำหรับบางคนที่ชื่นชอบการทำสีผมอย่างมาก ทำให้ต้องทำสีผมอยู่บ่อยครั้ง และมักใช้ผลิตภัณฑ์ยาย้อมสีผมติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งรู้หรือไม่ว่า สารเคมีที่อยู่ในยาย้อมผมนี่แหละ ที่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพของเราได้ หากขาดความระมัดระวังในการใช้
สารเคมีที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ย้อมผมมากที่สุด คือ “สารพาราฟินีลินไดอะมีน” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า PPD พบทั้งในผลิตภัณฑ์ย้อมผมประเภทชั่วคราว และถาวร มักก่อให้เกิดการแพ้มากที่สุดในกลุ่มผู้ใช้งาน โดย ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ ระยะเวลาในการย้อม และสภาวะของร่างกายของแต่ละบุคคล โดยอาการที่เกิดขึ้นได้แก่ อาการบวมบริเวณเปลือกตา ใบหน้า และริมฝีปาก โดยในขั้นแรกผิวหนังมีผื่นแดงเป็นตุ่มใส และมีน้ำเหลือง มีอาการคันมากบริเวณศีรษะ ใบหน้าและต้นคอ ในบางรายที่มีอาการแพ้มากจะทำให้หายใจลำบาก
นอกจากนี้ ทำให้เกิดจ้ำเขียวเป็นผื่น ดังนั้นก่อนใช้จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบการแพ้ก่อนทุกครั้ง ทำให้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องติดตาม ความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด โดยการควบคุมปริมาณของ PPD ในผลิตภัณฑ์ย้อมผมไม่ให้เกินร้อยละ 4 โดยน้ำหนัก
วิธีแก้ไขเบื้องต้นเมื่อพบว่าแพ้ “สารเคมี” ในผลิตภัณฑ์ “ย้อมผม”
- ให้ล้างหนังศีรษะและผมด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ หรือแชมพูอ่อน ๆ เพื่อล้างผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่ยังเหลืออยู่หมดไป หรือให้เหลือน้อยที่สุด
- ใช้สารละลายเจือจางของด่างทับทิม 1 ส่วน ต่อน้ำ 5,000 ส่วน เพื่อชะล้างสารเคมีให้หมดจากเส้นผม
- หากอาการไม่ดีขึ้น ให้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป โดยนำฉลาก ซอง หรือกล่องผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไปด้วย
เทคนิคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ “ย้อมผม” และข้อควรระวัง
- อ่านฉลากและปฏิบัติตามคำเตือน และวิธีใช้
- ไม่ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้
- ห้ามใช้เมื่อหนังศีรษะมีรอยถลอก เป็นแผล หรือโรคผิวหนัง
- ไม่ควรเกาศีรษะอย่างแรงขณะย้อมผม เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
- ไม่ปล่อยให้สีย้อมผมค้างบนเส้นผมหรือหนังศีรษะนานเกินความจำเป็น เพราะอาจทำให้เกิดการแพ้ได้
- สวมถุงมือทุกครั้ง เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผม
- สระผมให้สะอาดหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผม
- หยุดใช้ทันทีเมื่อมีอาการ แสบ ร้อน แดง คันยุบยิบ
- หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผม
วิธีการทดสอบการแพ้ผลิตภัณฑ์ย้อมสีผม
1. ทำความสะอาดบริเวณหลังใบหู หรือบริเวณข้อพับ ข้อศอกด้านใน
2. ใช้ก้านสำลีจุ่มผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่ผสมแล้วเพียงเล็กน้อย ทาที่บริเวณหลังใบหู หรือบริเวณข้อพับ ข้อศอกด้านใน ให้กว้างประมาณครึ่งนิ้ว
3. ทิ้งไว้ให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออกเป็นเวลา 24 - 48 ชั่วโมง หากมีอาการคันหรือผื่นแดง ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นั้น
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : livescience, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech