ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบแล้ว : เพจอ้างอินเดียประกาศภาวะฉุกเฉินหลังไวรัส HMPV ผสมพันธุ์กับ COVID-19 ไม่จริง


Verify

7 ม.ค. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบแล้ว : เพจอ้างอินเดียประกาศภาวะฉุกเฉินหลังไวรัส HMPV ผสมพันธุ์กับ COVID-19 ไม่จริง

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2135

ตรวจสอบแล้ว : เพจอ้างอินเดียประกาศภาวะฉุกเฉินหลังไวรัส HMPV ผสมพันธุ์กับ COVID-19 ไม่จริง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กชื่อ "เกิดมาเผือก เจ๊เผือก" แชร์ข้อมูลอ้าง "อินเดีย" ประกาศฉุกเฉิน ให้เฝ้าระวังคนจีนทุกคน หลังไวรัส HMPV ที่ผสมพันธุ์กับ COVID-19 แต่จากการตรวจสอบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุ ข้อมูลที่แชร์อาจเป็นเพียงข้อมูลเท็จ เพราะเป็นไปได้ยากที่ไวรัสสองชนิดจะผสมข้ามสายพันธุ์ และไวรัส HMPV ก็ไม่ได้รุนแรงกว่าโควิด-19 แต่อย่างใด

แหล่งที่มา : Facebook

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงเพจเฟซบุ๊กแชร์ข้อมูลเท็จ

กระบวนการตรวจสอบ

จากการตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กชื่อ "เกิดมาเผือก เจ๊เผือก" แชร์ข้อความระบุว่า "อินเดีย ประกาศฉุกเฉิน ให้เฝ้าระวังคนจีนทุกคน หลังไวรัส HMPV ที่ผสมพันธุ์กับ COVID-19 ระบาดหนัก หลายมณฑล รวมถึงฮ่องกงด้วย อาการปอดอักเสบรุนแรงยิ่งขึ้นกว่ารอบก่อน" ซึ่งพบว่าข้อความดังกล่าวทำให้มีผู้คนสนใจกดแสดงความคิดเห็นเข้าไปถึง 12,000 ครั้ง รวมถึงแชร์โพสต์ดังกล่าวไปกว่า 30,000 ครั้งด้วยกัน

ขณะที่ภายในช่องแสดงความคิดเห็นมีการแชร์ข่าวจาก "Line today" ซึ่งเป็นการแชร์ข่าวจากเพจ "Thaiger ข่าวไทย" ที่รายงานข่าวการระบาดของไวรัส HMPV ในประเทศจีน ซึ่งกำลังส่งผลให้โรงพยาบาลแออัด โดยรายงานข่าวระบุเพียงว่า “การระบาดในครั้งนี้ คล้ายคลึงกับช่วงแรกของการระบาดโควิด-19”

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพเพจที่มีการอ้างอิงถึง ซึ่งพบว่าไม่มีการกล่าวถึงการประกาศภาวะฉุกเฉินของประเทศอินเดียแต่อย่างใด

เราตรวจสอบประเด็นที่มีการอ้างว่า “อินเดีย ประกาศฉุกเฉินให้เฝ้าระวังคนจีนทุกคน” ไปยังเว็บไซต์ NDTV ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวของอินเดีย พบว่ามีเพียงการรายงานข่าวเรื่อง สำนักงานสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัว ออกคำแนะนำเพื่อป้องกันและควบคุมโรคทางเดินหายใจ รวมถึงไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และไวรัสเมตานิวโมไวรัสของมนุษย์ (HMPV) คำแนะนำดังกล่าวเน้นย้ำถึงมาตรการป้องกัน การเตรียมความพร้อมในสถานพยาบาล และการสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน เพื่อรับมือกับความเสี่ยงในการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว เพียงเท่านั้น
 

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงรายงานข่าวของเว็บไซต์ NDTV ซึ่งไม่พบการออกมาตรการเฝ้าระวังคนจีนแต่อย่างใด

ขณะที่ตัวเลขล่าสุดของผู้ติดเชื้อในประเทศอินเดีย ล่าสุด (7 ม.ค.68) มีผู้ติดเชื้อล่าสุด 7 ราย โดยผู้ป่วยใหม่ 2 ราย อยู่ในกลุ่มเด็ก ซึ่งอยู่ในเมืองนากปุระ รัฐมหาราษฏระ ซึ่งห้องปฏิบัติการเอกชนได้ยืนยันผู้ป่วย HMPV ทั้ง 2 รายแล้ว และทำการเก็บตัวอย่างและส่งไปยังศูนย์ไวรัสวิทยา AIIMS โดยผู้ป่วยทั้ง 2 รายหายดีและออกจากโรงพยาบาลแล้ว

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โพสต์ดังกล่าว ถือว่ามีผู้สนใจส่งข้อความสอบถามจำนวนมาก โดยมีผู้กดถูกใจกว่า 12,000 คน รวมถึงส่งข้อความเข้าไปแสดงความคิดเห็นมากกว่า 2,200 ครั้ง และแชร์ข้อมูลเท็จนี้ไปถึง 30,000 ครั้งด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จ และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของผู้ที่ได้รับข้อมูลดังกล่าว

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับข้อมูลเท็จดังกล่าว

การผสมข้ามสายพันธุ์ ไม่ใช่เรื่องง่าย

ศ.ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึงกรณีการกล่าวอ้างว่า ไวรัสเมตานิวโมไวรัสในมนุษย์ หรือ HMPV และ SARS-CoV-2 หรือ โควิด-19 ทั้ง 2 ชนิดได้มาผสมข้ามสายพันธุ์กันนั้น ถือว่าเป็นไปได้ยากมาก และจากการตรวจสอบข่าวก็พบว่า ในขณะนี้มีเพียงแค่การระบาดพร้อมกันในหลาย ๆ ไวรัส โดยเฉพาะในพื้นที่ซีกโลกเหนือ หรือประเทศที่มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ อย่างในประเทศอังกฤษ ในช่วงหน้าหนาวพบการระบาดของไวรัสถึง 4 สายพันธุ์

"ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งการระบาดนั้นก็รวมถึงโควิด-19 ด้วย โดยในจีนมีเพียงข่าวการระบาดของ HMPV ที่คล้ายกับการระบาดของโควิด-19 เพียงเท่านั้น แต่ไม่ใช่การผสมรวมกันแต่อย่างใด"

สำหรับการผสมข้ามพันธุ์นั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในสายพันธุ์เดียวกัน ที่มีวิวัฒนาการเป็นระยะ ๆ เช่น ไวรัสสายพันธุ์เดิมที่พัฒนาให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่การผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งการผสมข้ามสายพันธุ์นั้น ถือว่าเป็นไปได้ยากมาก

แม้ว่าในทางทฤษฎีไวรัสสามารถรวมสารพันธุกรรมกันได้ แต่ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า HMPV และ SARS-CoV-2 ได้รวมจีโนมกันในประเทศจีน และไวรัสทั้งสองชนิดนี้ถือเป็นไวรัสที่แตกต่างกัน และอยู่ในตระกูลไวรัสที่ต่างกัน เนื่องจาก HMPV เป็นสมาชิกในตระกูล Pneumoviridae ในขณะที่ SARS-CoV-2 อยู่ในตระกูล Coronaviridae อีกทั้งโครงสร้างทางพันธุกรรมและกลไกการจำลองตัวของพวกมันแตกต่างกันมาก ทำให้การรวมกันของจีโนมจึงเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้ :

1. เคยมีการพบการติดเชื้อร่วมกันระหว่าง HMPV และไวรัสโคโรนามาก่อน ในช่วงการระบาดของโรคซาร์สในปี 2002 พบว่าผู้ป่วยบางรายติดเชื้อทั้ง HMPV และไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคซาร์ส

2. นักวิจัยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาวัคซีนรวม มีความพยายามที่จะสร้างวัคซีนที่รวมแอนติเจนจากทั้ง SARS-CoV-2 และไวรัสระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รวมถึง HMPV

3. การระบาดของ HMPV ในจีนในปัจจุบันกำลังถูกเฝ้าระวัง แต่ถือเป็นประเด็นแยกต่างหากจากโควิด-19

สรุปได้ว่า แม้การติดเชื้อร่วมกันของไวรัสสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานของการรวมจีโนมระหว่าง HMPV และ SARS-CoV-2 ในประเทศจีนหรือที่อื่นแต่อย่างใด

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยัน 2 ไวรัสผสมข้ามสายพันธุ์ไม่ได้

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ระบุว่า การผสมกันของ HMPV และ SARS-CoV-2  ถือว่าเป็นไปไม่ได้ แต่หากเป็นการกลายพันธุ์ของแต่ละชนิดถือว่าเป็นไปได้

"การระบาดของ HMPV ถือว่ามีการระบาดมานานแล้ว และไม่เคยกลายพันธุ์มาก่อน โดยยังคงมีความรุนแรงที่เหมือนเดิม และอาการก็ไม่เหมือนกับโควิด-19 โดยมีอาการที่อ่อนกว่า"

ส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วก็จะหายเอง แม้จะไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันก็ตาม โดยการรักษาก็จะมีการรักษาตามอาการ ซึ่งผู้ป่วยที่ตนเองรักษาอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุถึง 80 ปี ซึ่งเมื่อตรวจก็พบว่า ติดเชื้อไวรัส HMPV มีอาการเบื้องต้นคือ เจ็บคอ ไอ มีไข้ต่ำ และเมื่อให้ยารักษาตามอาการไปรับประทาน ก็สามารถหายได้ภายใน 2-3 วัน

ส่วนอาการของ HMPV นั้น จะมีอาการคล้ายกับโรคหวัดที่อยู่บริเวณจมูก หรือ บริเวณคอ แต่ในบางคนก็พบว่า มีการลงไปที่หลอดลม ก็จะส่งผลให้มีอาการไอที่เยอะมากขึ้นกว่าปกติ แต่ในส่วนที่ไวรัสจะลงไปที่ส่วนของปอด และจะทำให้ปอดติดเชื้อ หรือถึงขั้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจนั้น ถือว่าพบน้อยมาก ๆ

"ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องตกใจหรือตื่นตระหนก และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปิดประเทศ เพราะถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี"

สำหรับช่วงเวลาที่พบการแพร่ระบาดนั้น มักจะพบในช่วงปลายฝนก็หนาว ซึ่งแต่ก่อนนั้นมีการตรวจพบที่ยากเนื่องจากต้องส่งไปตรวจรหัสพันธุกรรมและมีค่าใช้จ่ายที่สูงรวมถึงใช้เวลาหลายชั่วโมงแต่ปัจจุบันนี้การตรวจทำได้ง่ายขึ้นโดยสามารถใช้ชุดตรวจเดียวกันกับโควิด 19 ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงทำให้สามารถตรวจหาเชื้อดังกล่าวได้ที่บ้าน ซึ่งหากผู้ที่ติดเชื้อก็ขอให้ไม่ต้องตกใจและรักษาตามอาการเพียงเท่านั้น

HMPV คืออะไร?

โดย Nagarjuna R. Cheemarla and Antonieta Guerrero-Plata - https://www.mdpi.com/2076-0817/4/3/682/htm, CC BY 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=92619728

Human metapneumovirus (HMPV) หรือเชื้อไวรัสฮิวแมนเมตะนิวโม เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ น้ำมูก คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด ฤดูกาลที่พบการติดเชื้อมาก จะมี 2 ช่วง คือ ช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่เด็ก ๆ มักมีอาการหวัด ติดเชื้อทางเดินหายใจได้บ่อย ซึ่งการตรวจหาเชื้อนั้น ทำได้โดยวิธีการเดียวกับไข้หวัดใหญ่และ RSVโดยวิธีการ swab โดยมักพบอาการในกลุ่มเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ

อาการผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HMPV

ผู้ป่วยมักมีอาการของระบบทางเดินหายใจ คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือ มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ซึ่งพบมากในเด็กเล็ก แต่ในผู้ใหญ่และเด็กโต ที่มีภูมิต้านทานดี หากติดเชื้อนี้อาจจะมีอาการเหมือนแค่เป็นหวัดธรรมดา หรือไม่มีอาการก็ได้ อย่างไรก็ตามไวรัส HMPV เป็นกลุ่มโรคเดียวกันกับเชื้อไวรัส RSV เป็นสาเหตุหนึ่งของปอดอักเสบในเด็กเล็กและผู้สูงอายุด้วย

ข้อแนะนำในการป้องกันโรคไวรัส HMPV

เนื่องจาก ยังไม่มีวัคซีน หรือยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาเชื้อนี้โดยตรง จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองเหมือนไข้หวัดใหญ่และ RSV ทั่วไป ขณะที่การป้องกันโรค จึงใช้หลักการเดียวกับการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ คือล้างมือให้สะอาด ไม่เอามือไปแคะจมูกหรือเอามือเข้าปาก ไม่คลุกคลีกับคนที่ป่วย ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปในที่ชุมชนคนเยอะ ๆ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อทางเดินหายใจ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

HMPVCOVIDฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัสเอชเอ็มพีวีข่าวปลอมไวรัสโควิดสุขภาพ
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด