ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิจัยไทยพัฒนา “กุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่” หวังฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำไทย


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

17 ม.ค. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

นักวิจัยไทยพัฒนา “กุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่” หวังฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำไทย

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2186

นักวิจัยไทยพัฒนา “กุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่” หวังฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำไทย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“กุ้งกุลาดำ” เคยเป็นกุ้งที่เกษตรกรไทยเพาะเลี้ยงมากที่สุดและไทยเคยเป็นผู้ส่งออกกุ้งกุลาดำอันดับ 1 ของโลก แต่เพราะเจอปัญหาโรคระบาดใน “ฟาร์มกุ้ง” ทำให้ผลผลิตเสียหาย เกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

การขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำคุณภาพดีเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเลี้ยงกุ้งกุลาดำในประเทศไทยฟื้นตัวช้า ผลผลิตกุ้งส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงเป็นกุ้งขาวพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ

บ่อเลี้ยงกุ้งระบบปิดภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง (ศวพก.) ภาพจาก สวทช.

“ไบโอเทค” (สวทช.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำจนประสบความสำเร็จ ได้กุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่ที่ปลอดโรคและโตเร็ว ให้ผลผลิตกุ้งตัวใหญ่ เนื้อแน่น รสชาติดี ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการเลี้ยงในสภาพแวดล้อมจริงร่วมกับเกษตรกร

พ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดยไบโอเทค สวทช. ปลอดโรค โตไว ขนาดใหญ่

“อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้ง” อีกหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญของไทย

อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งเคยสร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาทต่อปี และทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับหนึ่งของโลก โดยเฉพาะ “กุ้งกุลาดำ” ซึ่งเป็นกุ้งพันธุ์พื้นถิ่นของไทย มีเนื้อแน่น กรอบเด้ง รสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเป็นกุ้งพันธุ์หลักที่เกษตรกรไทยเคยเพาะเลี้ยงและส่งออกไปทั่วโลก แต่เมื่อเจอวิกฤตโรคระบาดและปัญหาสิ่งแวดล้อมในฟาร์มกุ้ง เกษตรกรได้รับความเสียหายอย่างหนัก ฟาร์มกุ้งหลายแห่งต้องปิดตัวลง ส่งผลให้การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในประเทศไทยลดลงอย่างมากและถูกทดแทนด้วยการเลี้ยงกุ้งขาวดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปอย่างมหาศาล

การขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำคุณภาพดีเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเลี้ยงกุ้งกุลาดำในประเทศไทยฟื้นตัวช้า ผลผลิตกุ้งส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงเป็นกุ้งขาวพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำจนประสบความสำเร็จ ได้กุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่ที่ปลอดโรคและโตเร็ว

กุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่ ภาพจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง

ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า กุ้งกุลาดำเคยเป็นกุ้งที่ประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ในอดีตเรายังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรค สิ่งแวดล้อม และการจัดการระบบการเลี้ยง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การเลี้ยงกุ้งกุลาดำประสบปัญหาจนต้องมีการนำกุ้งขาวจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงแทน กุ้งกุลาดำที่เป็นพันธุ์พื้นถิ่นของไทยจึงค่อย ๆ หายไป โดยปัจจุบันมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำไม่ถึงร้อยละ 10 ของผลผลิตกุ้งทะเลทั้งหมดของประเทศ และเป็นกุ้งขาวมากกว่าร้อยละ 90

อย่างไรก็ตามกุ้งกุลาดำยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงในการเพาะเลี้ยงให้เป็นผลผลิตของประเทศ เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามที่จะคงขีดความสามารถด้านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำของประเทศไทยเอาไว้ โดยไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดำเนินการก่อตั้ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง (ศวพก.)  ในพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อวิจัยและพัฒนาพันธุ์กุ้งกุลาดำ และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำที่มีคุณภาพภายใต้ระบบการเลี้ยงที่ปลอดโรค จากนั้นคัดเลือกลูกกุ้งที่ผ่านการพัฒนาพันธุ์แล้วไปให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกกุ้งตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน

ในการพัฒนาพันธุ์กุ้งกุลาดำ นักวิจัยได้รวบรวมกุ้งกุลาดำจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งจากธรรมชาติและแหล่งเพาะเลี้ยง นำมาเพาะเลี้ยงในพื้นที่กักกันและตรวจโรคกุ้งอย่างละเอียด เพื่อคัดเฉพาะกุ้งที่ปลอดโรคเท่านั้นไปเลี้ยงต่อ จากนั้นนำไปเพาะพันธุ์ให้ได้ลูกกุ้งปลอดโรค แล้วจึงเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เพื่อผลิตเป็นพ่อแม่พันธุ์กุ้งสำหรับพัฒนาพันธุ์ต่อภายในศูนย์วิจัยฯ

หลังจากนำลูกกุ้งกุลาดำปลอดโรคเข้ามาเลี้ยงภายในศูนย์วิจัยฯ จนโตเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กุ้งอายุ 9-11 เดือน จึงผสมพันธุ์เพื่อผลิตลูกกุ้งรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งค่อนข้างใช้เวลานานเนื่องจากต้องการให้พัฒนาพันธุ์กุ้งที่โตเร็ว จึงต้องมีขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์ และเนื่องจากกุ้งมาจากหลายแหล่ง จึงต้องทำให้เป็นประชากรกุ้งกุลาดำของศูนย์วิจัยฯ และใช้เทคนิคฉีดสีทำเครื่องหมายบนตัวพ่อแม่พันธุ์ ส่วนการผสมพันธุ์กุ้งจะไม่ใช้วิธีธรรมชาติ แต่จะใช้วิธีรีดถุงสเปิร์มจากพ่อพันธุ์ไปผสมกับแม่พันธุ์กุ้งตามแผนการผสมพันธุ์ที่ออกแบบไว้ เมื่อได้ลูกกุ้งที่มาจากพ่อแม่พันธุ์แต่ละคู่ ก็จะคัดเลือกลูกกุ้งที่เติบโตดีเพื่อนำไปเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์และเข้าสู่การผสมพันธุ์รอบใหม่ ผลิตลูกกุ้งรุ่นใหม่ คัดเลือกพันธุ์จนกระทั่งได้พันธุ์ที่ตรงตามต้องการ

กุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่ ภาพจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง

ทั้งนี้ ในปี 2567 นักวิจัย สวทช. พัฒนาพันธุ์กุ้งกุลาดำสำเร็จและได้กุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่น คือ ปลอดโรค แข็งแรง โตเร็ว มีขนาดใหญ่ เนื้อแน่น และมีรสชาติอร่อย ทำให้จำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น และสร้างตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์กุ้งของไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบพันธุ์ในสภาพแวดล้อมการเพาะเลี้ยงจริงร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และฟาร์มกุ้งของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยคาดว่าจะขยายผลผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่ในเชิงพาณิชย์ได้ในปีถัดไป

เป้าหมายหลักของเราคือพัฒนาพันธุ์และผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งคุณภาพดีให้เกษตรกร ซึ่งตอนนี้เราพัฒนาพันธุ์ขั้นแรกสำเร็จแล้ว คือได้พันธุ์ที่โตเร็วและปลอดโรค เพื่อเริ่มต้นให้เกษตรกรได้ใช้ ในขั้นต่อไปเราต้องการพัฒนาพันธุ์กุ้งกุลาดำให้ทนต่อโรค เช่น โรคไวรัสตัวแดงดวงขาว ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการเลี้ยงกุ้ง รวมถึงการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้งเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เช่น อินเดีย ซึ่งมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำจำนวนมาก จึงมีความต้องการพ่อแม่พันธุ์จำนวนมากด้วยเช่นกัน

การพัฒนาพันธุ์กุ้งกุลาดำที่แข็งแรงและต้านทานโรคจะช่วยให้เกษตรกรไทยกลับมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้อีกครั้ง และช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำไทย สร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งระดับโลก

เกษตรกรและผู้ประกอบการที่สนใจพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่ของไบโอเทค สวทช. ติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง (ศวพก.) ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. 0 7727 0776 และติดตามข่าวสารผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “ศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง”


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กุ้งกุลาดำกุ้งกุลาดำพันธุ์ใหม่เลี้ยงกุ้งกุลาดำแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำฟาร์มกุ้งอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำไทยเกษตรกรไทยนักวิจัยไทยวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด