ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ต้องรู้อะไรบ้าง หากจะรับ "สัตว์จร" มาเลี้ยงดู ?


Thai PBS Care

22 เม.ย. 68

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

ต้องรู้อะไรบ้าง หากจะรับ "สัตว์จร" มาเลี้ยงดู ?

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2600

ต้องรู้อะไรบ้าง หากจะรับ "สัตว์จร" มาเลี้ยงดู ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ต่อเนื่องมาถึงเรื่องราวการค้นหาผู้ประสบภัยในซากตึก สตง. ที่ถล่มลงมา มีอีกหนึ่งเรื่องราวที่ผู้คนให้ความสนใจ นั่นคือ การพบแมวจรที่รอดจากภัยตึกถล่ม ภายหลังตั้งชื่อว่า “สตง” ในคราวเดียวกัน ก็พบหมาจร ชื่อว่า “เจ้าโย่ง” ที่มีส่วนในการค้นหาผู้ประสบภัย จนสุดท้ายได้ฉายาว่า “Kจร”

นับถึงตอนนี้ ทั้ง “เจ้าสตง” และ “เจ้าโย่ง” กำลังได้รับการดูแลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย และในไม่ช้า สุนัขและแมวเหล่านี้ จะมีผู้อุปการะนำไปเลี้ยงดูต่อไป 

Thai PBS นำข้อควรรู้ หากจะรับเลี้ยง “สัตว์จร” เราต้องเรียนรู้และเตรียมตัวอย่างไร ?

สิ่งที่ต้องทำ เมื่อต้องรับเลี้ยงสัตว์จร

1.ต้องรู้ประวัติของสัตว์จร โดยสิ่งที่ผู้รับเลี้ยงควรรู้ จากประวัติของสัตว์จร (ถ้ามี) ดังนี้

  • ประวัติการทำวัคซีน อาทิ ทำวัคซีนโรคไหนบ้าง ทำมาเมื่อไหร่ มีสมุดวัคซีนมาด้วยไหม
  • ประวัติการถ่ายพยาธิ
  • ประวัติการทำหมัน
  • ประวัติโรคประจำตัวอื่น ๆ (ถ้ามี) พร้อมกับเช็กร่างกายภายนอกว่า มีบาดแผลหรือส่วนใดในอวัยวะที่ผิดปกติหรือไม่

2.ต้องเฝ้าระวังโรค โดยในช่วงแรกที่รับมาเลี้ยง ต้องทำการเฝ้าระวังโรคที่อาจแฝงมากับสัตว์จร เช่น การติดเชื้อต่าง ๆ แต่อยู่ในช่วงระยะฟักตัว ไม่แสดงอาการ ดังนั้น การเฝ้าระวังโรค จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยระยะเวลาเฝ้าระวังอยู่ที่ประมาณ 7 – 14 วัน

3. ต้องตรวจร่างกายเบื้องต้น อาทิ การตรวจเลือด การตรวจชุดทดสอบเบื้องต้น (Test kit) การตรวจหาไข่พยาธิ และการตรวจโรคจากสารคัดหลั่ง

ทั้งนี้ การตรวจเลือด เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และเกล็ดเลือด รวมทั้งใช้ตรวจหาโรค เช่น โรคพยาธิในเม็ดเลือด โรคเอดส์ และลิวคีเมียแมว นอกจากนี้ยังใช้เช็กค่าเอนไซม์ในเลือด ค่าของเสียในเลือด ค่าการทำงานของไต 

ส่วนการตรวจชุดทดสอบโรคเบื้องต้น (Test kit) ช่วยในการหาโรคไวรัสลำไส้อักเสบที่ติดต่อในสุนัข (Canine Viral Enteritis) และโรคไข้หัดแมว (Feline Panleukopenia) สำหรับการตรวจโรคจากสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก ขี้ตา ใช้ตรวจหาโรคไข้หัดสุนัข (Canine Distemper)

4. ต้องเตรียมการป้องกันและทำวัคซีน อาทิ การป้องกันเห็บหมัดและพยาธิภายนอก การถ่ายพยาธิภายใน และการทำวัคซีน 

ทั้งนี้ วิธีการป้องกันเห็บหมัดและพยาธิภายนอกที่ได้รับความนิยม คือ การใช้ยาหยดหลังคอ มีทั้งแบบหยดทุก 4 สัปดาห์และหยดทุก 12 สัปดาห์ 

ส่วนการถ่ายพยาธิ ความถี่ในการถ่ายพยาธิ อาจเป็นทุก 1 เดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือน และควรเลือกใช้ยาที่เหมาะสม เนื่องจากพยาธิมีหลายชนิด ทั้งพยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน พยาธิตัวตืด

สำหรับการฉีดวัคซีน ช่วยป้องกันสัตว์เลี้ยงป่วยในหลาย ๆ โรค อาทิ  โรคไข้หัดสุนัข-โรคไข้หัดแมว โรคตับอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า โรคหวัดแมว โรคไข้หัดแมว หรือโรคเอดส์แมว โดยส่วนใหญ่เป็นวัคซีนรวม ที่มีระยะเวลาฉีดตามที่สัตวแพทย์กำหนด และควรฉีดให้ตรงเวลาที่นัดหมาย เพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง

5. ต้องเตรียมสถานที่รับเลี้ยง เนื่องจากในอดีต สุนัขจร-แมวจร คุ้นชินกับความอิสระ เมื่อต้องมาอยู่ในบ้าน หรือสถานที่ที่จำกัด อาจเกิดภาวะเครียดได้ ดังนั้น การเตรียมสถานที่เพื่อเลี้ยงดูสัตว์จร จึงควรมีความพร้อม และมีความเหมาะสม เหนืออื่นใด ผู้ที่รับสัตว์จรมาดูแล ต้องมีพื้นฐานความเข้าใจ และต้องให้เวลาในการปรับตัวของสัตว์จร 

นอกจากนี้ ผู้ที่รับอุปการะสัตว์จร ควรนำปลอกคอ พร้อมกับติดชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์เอาไว้ที่ปลอกคอ เพื่อป้องกันกรณีที่สัตว์จรที่รับมาเลี้ยงดู เกิดพลัดหลงหรือสูญหาย เพราะในช่วงแรกที่รับสัตว์จรมาเลี้ยง ตัวสัตว์เองอาจจะยังไม่คุ้นชิน บางตัวจึงพยายามหนี หรือซ่อนตัว การใส่ข้อมูลสัตว์ไว้ที่ปลอกคอ จะเป็นการป้องกันสัตว์สูญหายไปด้วยอีกทาง

6. ต้องปรับพฤติกรรมสัตว์จร การฝึกให้หมาหรือแมวจรเข้ากับสังคมที่อยู่อาศัยใหม่ ถือเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากบางตัวไม่คุ้นเคยกับการถูกจำกัดพื้นที่ ตลอดจนบางตัวอาจเคยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายมาก่อน เช่น เคยถูกทุบตี กลัวเสียงดัง ดังนั้น ควรฝึกให้สัตว์จรที่รับมาเลี้ยงดู ได้ปรับพฤติกรรม เช่น ลองให้เดินสำรวจรอบบ้านใหม่ หรือหากมีสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ อยู่ในบ้านก่อนแล้ว อาจลองปล่อยให้ทำความคุ้นเคยกัน แต่ควรอยู่ในสายตาของผู้ดูแล เพื่อหลีกเลี่ยงสัตว์กัดกัน รวมถึงอาจใส่สายจูงเอาไว้ เพื่อความปลอดภัย

7. ผู้รับเลี้ยงต้องเช็กความพร้อมของตัวเอง ในมุมของผู้รับเลี้ยง ควรเช็กตัวเองเช่นกันว่า มีความพร้อมต่อการดูแลสัตว์จรมากแค่ไหน 

  • เช็กให้ชัวร์ว่า คนรอบข้าง สมาชิกในครอบครัว ยินดีที่จะมีสัตว์จรเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่หรือไม่ 
  • เช็กสถานที่ในการเลี้ยง มีรั้วรอบขอบชิด เพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยงหรือไม่
  • มีความรู้เบื้องต้นในการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจพฤติกรรมของสัตว์จร ที่เพียงพอหรือไม่
  • มีความพร้อมในเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งของใช้จำเป็นต่าง ๆ ที่ผู้รับเลี้ยงสัตว์จรต้องดูแล เพียงพอหรือไม่
  • เช็กให้แน่ใจว่า เป็นผู้มีจิตใจเมตตาและรักสัตว์ ไม่เป็นเพียงแค่ความหลงใหลในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะการรับเลี้ยงสัตว์จรสักตัวหนึ่ง หมายถึงการดูแลเขาไปตลอดชีวิต ดังนั้น ผู้รับเลี้ยงควรมั่นใจว่า จะดูแลด้วยความรัก ความเมตตา ตลอดชั่วอายุขัยของสัตว์ได้ตลอดไป

ทั้งหมดเป็นการเตรียมตัว เพื่อให้ “พร้อม” ต่อการรับเลี้ยงสัตว์จรสักตัวหนึ่ง เมื่อรับมาดูแลแล้ว ชีวิตของเขา เป็นของเรา จึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลที่ต้องมอบความรัก ความใส่ใจ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง…

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ตึก สตง.ตึกถล่มเจ้าสตงเจ้าโย่งK จรสัตว์จรหมาจรแมวจร
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด