ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Kepler 22b ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ปฏิวัติการล่าหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ


Logo Thai PBS
แชร์

Kepler 22b ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ปฏิวัติการล่าหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2617

Kepler 22b ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ปฏิวัติการล่าหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อปลายปี 2011 ได้มีการยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ Kepler 22b ซึ่งเป็นดวงแรกที่อยู่ใน เขตที่อยู่อาศัยได้ (Habitable Zone) โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler Space Telescope) ซึ่งการค้นพบ Kepler 22b นี้กลายเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของการตามล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์อยู่ในโครงการดิสคัฟเวอรี (Discovery) ของ NASA ที่มีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือการตามล่าหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะผ่านการสังเกตเงาของดาวเคราะห์ที่เคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ (Transit)

หากว่ากันตามจริง Kepler 22b ไม่ใช่ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่ถูกค้นพบว่าอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยได้ (Habitable Zone) เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ในเขตนี้มาก่อนแล้ว เช่น Gliese 581c ที่ถูกค้นพบในปี 2007 แต่ระบบเหล่านั้นเป็นเพียงดาวแคระแดงเท่านั้น

ภาพเปรียบเทียบตำแหน่งวงโคจรของดาวเคราะห์ Kepler 22b กับระบบสุริยะของเรา

สิ่งที่ทำให้ Kepler 22b นั้นโดดเด่นและเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์คือ มันเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก (ใหญ่กว่าโลก 2.4 เท่า) เป็นบริวารที่โคจรรอบดาวฤกษ์ประเภท G ซึ่งมีมวลและความร้อนใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ ถึงแม้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะอยู่ห่างจากโลกไกลถึง 640 ปีแสง แต่มันก็สร้างความตื่นเต้นให้กับเราไม่น้อย เพราะมันเป็นเหมือนหลักฐานที่บอกกับเราว่าดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายกับโลกนั้นอาจจะมีอยู่มากมายเต็มเอกภพ

แม้ว่าจากข้อมูลที่เก็บมาได้โดยกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์จะไม่สามารถระบุได้ว่าชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่จากการคาดการณ์โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าหากมันไม่ได้เป็นดาวเคราะห์น้ำแข็งแบบดาวเนปจูนและดาวเคราะห์ดวงนี้มีองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศคล้ายกับโลก มันน่าจะมีอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยที่ 22 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่น้ำสามารถเป็นของเหลวบนพื้นผิวได้ และดาวเคราะห์ดวงนี้อาจจะเอื้อกับการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตได้

ภาพวาดของดาวเคราะห์ Kepler 22b ที่คาดการณ์กันว่าอาจจะมีชั้นบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับโลก

แม้ว่าหลังจากนั้นจะไม่ได้มีการสำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้เพิ่มเติมเนื่องจากว่ามีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงอื่นที่อยู่ใกล้และน่าสนใจมากกว่า แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ทิ้งมรดกสำคัญให้กับมนุษยชาติ อันดับแรกคือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์สามารถที่จะใช้ในการตามหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้จริง ซึ่งหลังจากกล้องเคปเลอร์ปฏิบัติภารกิจได้ไม่นานก็มีการพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจากเคปเลอร์มากถึงหลายพันดวง ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของวงการศึกษาเรื่องดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ต่อมาคือกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์คือเครื่องมือชิ้นสำคัญในการพิสูจน์ว่าในเอกภพอันกว้างใหญ่นี้ยังมีดาวเคราะห์ที่มีลักษณะที่คล้ายกับโลกรอการค้นพบอยู่อีกมากมาย นี่คือการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ทำให้การสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแปลกใหม่เพิ่มขึ้นมากในทุก ๆ ปี

แม้ตอนนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์จะยุติการทำงานไปแล้ว แต่มรดกชิ้นใหญ่ที่หลงเหลือไว้คือความตื่นรู้ของสังคมเกี่ยวกับการตามหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และเกิดโครงการตามหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา เช่น TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite), CHEOPS, PLATO และ James Webb Space Telescope ที่อยากทำความรู้จักกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากยิ่งขึ้นกว่าสมัยของกล้องเคปเลอร์ เช่น เราสามารถศึกษาดูชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์เหล่านั้นได้ว่า มีองค์ประกอบที่เอื้อต่อชีวิตอยู่จริงหรือไม่

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS https://www.thaipbs.or.th/news/playlists/SciAndTech  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Kepler 22bดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนอกระบบสุริยะระบบสุริยะดาวเคราะห์กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์Kepler Space TelescopeสำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด