สะล้อ เครื่องดนตรีประเภทสี ซึ่งจะนิยมเล่นอยู่ในวง สะล้อ ซอ ปิน อันเป็นการแสดงพื้นบ้านของจังหวัดน่าน การบรรเลงด้วยเครื่องดนตรี 2 ชนิด สะล้อ ปิน ผสมผสานกับการขับร้องคำสด เป็นเอกลักษณ์ของชาวน่านที่สืบทอดกันมากกว่า 700 ปี พ่อครูอรุณศิลป์ ดวงมูล ศิลปินพื้นบ้านเมืองน่าน คือผู้สืบสานการทำเครื่องดนตรีพื้นบ้านสะล้อ ปิน และการขับซอที่คอยขับบรรเลงเสียงเพลงอันเป็นเอกลักษณ์แห่งเมืองน่านมาอย่างยาวนาน
ผีตาโขน คือประเพณีที่เกี่ยวพันกับความเชื่อ ความศรัทธาของชาวบ้านอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยมีช่างเอกลักษณ์ หาสิงทอง ผู้อนุรักษ์การทำหน้ากากผีตาโขนแบบโบราณ และช่างชาญชัย พรหมรักษา ช่างทำหน้ากากผีตาโขนแบบสวยงาม รวมถึงชาวบ้านในอำเภอด่านซ้ายยังคงร่วมกันรักษาการทำหน้ากากผีตาโขน เพื่อร่วมเล่นในประเพณีผีตาโขนในทุก ๆ ปี
ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ หนึ่งในผู้ชุบชีวิตผ้าพื้นถิ่นชายแดนใต้อย่างผ้าปะลางิงที่สูญหายไปร่วม 80 ปี ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งและยังคงอนุรักษ์พัฒนาต่อยอด โดยการนำวัฒนธรรมการกิน การละเล่น สถาปัตยกรรม พืชพันธุ์ไม้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่ภายใน 3 จังหวัดภาคใต้มาสร้างเป็นลวดลายที่บอกเล่าเรื่องราวลงบนผืนผ้า
ชุมชนพวกแต้ม ชุมชมที่ยังคงอนุรักษ์การทำคัวตองศิลปะของชาวล้านนา ที่ชาวบ้านในชุมชนสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น สล่านิวัติ เขียวมั่น ผู้สืบสานการทำคัวตองพุทธศิลป์ที่ยังคงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชน และแม่ครูสมจิตร อินทะยะ ช่างคัวตองหัตถศิลป์ ซึ่งสืบทอดการทำเล็บฟ้อน ดอกไม้ไหวแบบล้านนามาจากบรรพบุรุษ
ครูนิยม ราชเจริญ ผู้สืบสานและต่อลมหายใจให้กับงานฉลุลายฝังไม้มูก งานศิลปะแขนงหนึ่งของสกุลช่างเมืองเพชร ภูมิปัญญาโบราณที่เกิดจากการนำไม้ 2 ชนิดที่มีสีที่แตกต่างกันมาฉลุเป็นลวดลายแล้วนำมาฝังรวมกัน จนเกิดเป็นลวดลายสวยงามที่อยู่บนเครื่องเรือน เป็นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดเพชรบุรี